ตายแล้วไปไหน

ตายแล้วไปไหน แสดงธรรมโดย

แสดงโดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) ป.ธ.๙ , ศน.บ., (เกียรตินิยม) M.A.
เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร และเจ้าคณะภาค ๑๖ – ๑๗ – ๑๘ (ธ)
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.๑๐๑๐๐
ตายแล้วไปไหน 1

เหตุผลและหลักฐานทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา

     เรื่อง “ตายแล้วไปไหน” เป็นปัญหาที่น่าคิดและน่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง ที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาค้นคิดกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ว่าคนเราตายแล้วไปไหน ? ตายแล้วเกิดอีกหรือเปล่า ? นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ? วิญญาณหรือจิตมีจริงหรือเปล่า ? ผีมีหรือไม่ ? คำตอบต่อปัญหาเหล่านี้ คือสิ่งที่จะนำมาชี้แจงให้ทราบในที่นี้     เดิมทีเดียว แม้ผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยเชื่อว่า ตายแล้วจะมีการเกิดอีก แม้เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ยังสงสัยอยู่ แต่เมื่อได้ศึกษาค้นคว้าตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง แต่ก็ยังไม่เชื่อสนิทใจอยู่นั่นเอง เพราะเป็นเพียงพบหลักฐานในตำราเท่านั้น เมื่อได้ปฏิบัติกรรมฐาน และได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งได้เดินทางรอนแรมไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหลายแห่ง ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้น ในที่สุด ก็ต้องยอมรับตามที่พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้ว่า คนเราตายแล้วต้องไปตามกรรมของตน แต่ที่ว่าไปไหนนั้น ยังให้คำตอบชี้ชัดลงไปแน่นอนยังไม่ได้ เพราะแล้วแต่กรรมที่ทำไว้จะเสกสรรให้เป็นไป     จิตเป็นตัวนำไปเกิด
     พระพุทธศาสนาเชื่อถือในสังสารวัฏ – การเวียนว่ายตายเกิด และถือว่าคนเราทุกคนล้วนเกิดมาแล้วทั้งสิ้น นับชาติไม่ถ้วน และเกิดในภพภูมิที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามกฏแห่งกรรมที่ได้ทำไว้ทั้งดีและชั่ว ถ้ายังมีกิเลส อันเปรียบเหมือนยางเหนียวในพืชอยู่ตราบใด ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตราบนั้น จิตที่ได้รับการอบรมแล้ว ถ้ายังไม่สิ้นกิเลส ก็ย่อมนำไปเกิดในภพภูมิที่ประณีต มีความสุข ประเสริฐ และสูงขึ้น แต่ถ้าจิตไม่ได้รับการฝึกอบรม ปล่อยไว้ตามสภาพที่มันเป็น ปล่อยให้สกปรกเศร้าหมองเพราะถูกกิเลสจับ นอกจากจะก่อความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและสังคมในชาตินี้แล้ว ยังจะให้ภพชาติต่ำทรามลงไป ต้องประสบความทุกข์ ความเดือดร้อนมากในชาติต่อ ๆ ไปอีกด้วย     หากจะมีใครถามว่า “ที่ว่าคนเราตายนั้น ร่างกายตาย หรือจิตตาย หรือว่าตายทั้งสองอย่าง” ขอตอบว่า “ตายเฉพาะร่างกายเท่านั้น จิตหาได้ตายไปเหมือนกับร่างกายนั้นไม่ แต่ไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ตามแรงเหวี่ยงของกรรม ซึ่งส่งบุคคลเราไปเกิดในภพชาตินั้น ๆ เปรียบเหมือนเรือนที่ถูกไฟไหม้ โดยที่เจ้าของไม่ได้เป็นอันตราย อยากจะถามว่า “เมื่อเรือนถูกไฟไหม้เสียแล้ว เจ้าของเรือนจะไปอยู่ที่ไหน” ขอตอบว่า “เขาจะต้องหาที่แห่งใหม่อยู่ ตามที่เขาจะสามารถหาอยู่ได้ กล่าวคือ ถ้าผู้นั้นเป็นคนมีความสามารถดี หรือเป็นคนมีเงินทองอยู่มาก หรือมีญาติพี่น้องคอยให้ความช่วยเหลืออยุ่ เขาก็อาจสร้างบ้านใหม่ได้ดี หรือไปอาศัยญาติพี่น้องอยู่ แต่ถ้าผู้นั้นไร้ความสามารถ ยากจน หมดเนื้อประดาตัว ซ้ำไร้ญาติขาดมิตร เขาก็ย่อมไปหาที่อยู่ตามยถากรรมของเขา ข้อนี้ฉันใด คนเราที่ตายไปจากโลกนี้แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อร่างกายเดิมใช้การมิได้แล้ว ก็ย่อมไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ตามพลังแห่งกรรมที่ตนได้ทำเอาไว้ ถ้าเขาทำกรรมดีไว้มาก คือพัฒนาอบรมจิตตนเองได้มากแล้ว ก็ย่อมไปบังเกิดในที่ดี มีความสุข ถ้าเขาทำความดีไว้น้อย แต่ทำความชั่วไว้มาก คือยังด้อยในด้านพัฒนาจิตใจของตนอยู่ เขาก็ย่อมไปเกิดในที่มีความทุกข์ตามยถากรรมของตน.
จิตเป็นตัวสั่งสมบุญและบาป
     ลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของจิต ก็คือ เป็นตัวสั่งสมบุญบาป กรรม และกิเลสเอาไว้ ก็เมื่อจิตมีหน้าที่รับอารมณ์ จึงเก็บอารมณ์ทุกชนิดทั้งที่เป็นบุญ ทั้งที่เป็นบาป ทั้งที่ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปเอาไว้ แล้วเก็บไว้ในภวังค์ที่เรียกว่า ภวังคจิต เก็บไว้ได้หมดสิ้นอย่างละเอียด และสามารถนำติดตัวข้ามภพช้ามชาติไปได้ด้วย     ลักษณะที่จิตเก็บบุญและบาปเอาไว้นั้น เหมือนกระดาษซับ ที่สามารถซับน้ำเอาไว้คือ ตามปกติเมื่อมีน้ำหกราดลงบนโต๊ะหรือบนพื้นห้อง ถ้ามีกระดาษซับ เรามักจะใช้กระดาษนี้ซับน้ำที่หกราดนั้นให้แห้งไปได้ กระดาษซับสามารถเก็บน้ำได้หมด ฉันใด จิตก็เหมือนกัน เมื่อคนเราทำบุญหรือบาปลงไป จิตก็ซับเก็บไว้ได้หมด ฉันนั้น จิตจึงเป็นสภาพพิเศษที่น่าศึกษาจริง ๆ และเราทุกคนก็ได้ใช้จิตสั่งงานอยู่เกือบตลอดเวลา คนฉลาดจึงเห็นคุณค่าในการพัฒนาจิต อบรมจิตของตน     ในเรื่องที่จิตสามารถเก็บบุญและบาปเอาไว้จนถึงนำข้ามภพข้ามชาติไปได้นี้ บางคนอาจจะสงสัยและคัดค้านว่า “ถ้าหากว่าจิตมีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาแล้ว เมื่อจิตดวงที่ทำบุญและบาปเอาไว้ดับไปแล้ว บุญและบาปจะติดตามจิตต่อไปได้อย่างไร เพราะบุญและบาปได้ดับไปพร้อมจิตดวงนั้นเสียแล้ว”     ข้อนี้ขอเฉลยว่า ธรรมชาติของจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็จริง แต่ก็ได้เกิดดับสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย เหมือนกระแสไฟฟ้าที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ทำให้แสงสว่างติดต่อกันตลอด เพราะเกิดดับไวมาก อันธรรมชาติของจิตนั้น ก่อนที่มันจะดับไป ได้ถ่ายทอดทิ้งเชื้อ คือ บุญ บาป กรรม กิเลส ไว้ให้จิตดวงต่อไป เก็บไว้นำต่อไป แล้วแสดงผลออกมาเป็นระยะ ตามพลังแห่งกรรมคือบุญและบาปที่ได้สั่งสมไว้ บุญบาป มิได้สูญหายไปพร้อมกับความตายของร่างกาย หรือพร้อมกับความดับของจิต แต่ได้ถ่ายทอดสืบเนื่องไปตลอดเวลา เหมือนกับพันธุกรรมของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่ถ่ายทอดสืบต่อมาจากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด แม้ท่านจะตายล่วงลับไปแล้ว แต่ตัวท่านก็ยังมีอยู่ เพราะยีน (Gene) ซึ่งถ่ายมาจากสเปอร์ม และไข่ อันเป็นเชื้อในพันธุกรรมของท่าน ซึ่งเปรียบเสมือนบุญและบาป ยังสืบต่ออยู่ในบุตรหลานของท่าน เพราะฉะนั้น บุญ บาป จึงมิได้หายไปตราบเท่าที่คนนั้นยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ แม้จิตจะเป็นธรรมชาติเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ตาม คนที่เคยพัฒนาตนไว้ดีเมื่อชาติก่อน ๆ เมื่อมาสู่ชาตินี้ จิตก็ยังมีคุณภาพสูงอยู่ ดังที่เราได้พบเห็นท่านผู้ที่บุญมากที่มาเกิด ซึ่งเป็นคนมีรูปร่างดี ปัญญาเฉียบแหลม จิตใจเข้มแข็ง ประกอบด้วยเมตตากรุณา เป็นต้น แต่ถ้าผู้นั้นจะกินแต่บุญเก่าอย่างเดียว ไม่ยอมพัฒนาตนเองในปัจจุบัน พลังของบุญหรือพลังแห่งการพัฒนาตนไว้เมื่อชาติก่อนนั้น ย่อมหมดไปได้ ฉะนั้น คนที่ฉลาดจึงไม่หวังแต่กินบุญเก่าอย่างเดียว แต่ได้พยายามเพิ่มบุญใหม่ด้วยการพัฒนาตน อบรมตนในปัจจุบันด้วย
ลักษณะของบุญและบาป
   เนื่องจากจิตเป็นตัวรับหรือเก็บเอาบุญบาปเอาไว้ ฉะนั้น การศึกษาให้เข้าใจเรื่องบุญบาปตามหลักพระพุทธศาสนา จึงมีความจำเป็นประการหนึ่งในการอบรมจิต  เพราะจิตของคนที่สั่งสมบุญไว้มาก เป็นจิตที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากเป็นจิตที่ได้รับการพัฒนา ส่วนจิตของคนที่สั่งสมบาป หรือทำบาปไว้มาก เป็นจิตที่มีคุณภาพต่ำ เพราะขาดการพัฒนา ฉะนั้น จิตของคนที่มีบุญมากกับมีบาปมาก จึงต่างกันมาก เหมือนกับสภาพของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่ด้อยพัฒนา เราจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันประชาชนในหมู่ประเทศทั้ง ๒ มีความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก    เพื่อประโยชน์ในการฝึกอบรมจิต เราจึงควรทราบลักษณะของบุญและลักษณะของบาปตามหลักพระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้ลักษณะของบุญ   บุญมีลักษณะที่จะเข้าใจได้ง่าย ๆ อยู่ ๓ ประการ คือ       ก. เมื่อกล่าวถึงเหตุของบุญ ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง      ข. เมื่อกล่าวถึงผลของบุญ ได้แก่ ความสุขกายสุขใจทั้งในชาตินี้และในชาติต่อไป      ค. เมื่อกล่าวถึงสภาพของจิต ได้แก่ จิตใจที่สะอาดผ่องใส   เพราะฉะนั้น บุญก็คือการทำความดี อันเป็นเหตุทำจิตของตนให้ผ่องใสสะอาด แล้วก่อผลส่งผลให้เกิดความสุขความเจริญทั้งร่างกายและจิตใจให้แก่คนที่ทำบุญไว้ หรือคนที่อบรมจิตของตน หรือจะพูดอย่างย่อก็คือ บุญคือความสุขนั่นเอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข” (องฺ.* สตฺตก. ๒๓/๙๕/๙๐)
   * การยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกมาอ้างอิงไว้ด้วย ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ที่เขียนมานี้ ไม่ใช่พูดขึ้นมาเองโดยไม่มีหลักฐาน และเพื่อให้ท่านผู้สนใจได้ค้นเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกโดยตรง   พระไตรปิฎกที่ยกมาอ้างอิงนี้ เป็นฉบับภาษาบาลี อักษรย่อตัวแรก หมายถึงชื่อคัมภีร์ ตัวที่ ๒ หมายถึงหมวดของคัมภีร์นั้น ตัวเลขอันดับแรก หมายถึงเล่มของพระไตรปิฎก. อันดับสองหมายถึงข้อ. อันดับสาม หมายถึงหน้าของพระไตรปิฎกเล่มนั้น เช่น องฺ. สัตฺตก. ๒๓/๙๕/๙๐   องฺ. หมายถึงคัมภีร์อังคุตตรนิกาย. สตฺตก. หมายถึง สัตตกนิบาต. ๒๓ หมายถึงเล่มที่ ๒๓. เลขอันดับกลาง คือ ๙๕ หมายถึง ข้อที่ ๙๕ ส่วน ๙๐ หมายถึงหน้า ๙๐.

Yama_-_Savitri


ลักษณะของบาป
   ส่วนบาปนั้น มีลักษณะตรงกันข้ามกับบุญ ซึ่งมีลักษณะ ๓ อย่าง เช่นเดียวกัน คือ      ก. เมื่อกล่าวถึงเหตุของบาป ได้แก่ การทำชั่วทุกอย่าง      ข. เมื่อกล่าวถึงผลของบาป ได้แก่ ความทุกข์กายทุกข์ใจทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า      ค. เมื่อกล่าวถึงสภาพของจิตใจ ได้แก่ ความสกปรกเศร้าหมองของจิตใจ   ฉะนั้น บาปคือการทำชั่ว อันเป็นเหตุทำจิตใจของตนให้สกปรกเศร้าหมอง แล้วส่งผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนไว้ว่า “ความชั่วไม่ทำเสีบเลยดีกว่า เพราะว่าความชั่วย่อมตามตามเผาผลาญในภายหลังได้” (ขุ. ธ. ๒๕/๓๒/๕๖)
ปัญหาเรื่องนรกสวรรค์
    ปัญหาเรื่องนรกสวรรค์ ผีสาง เทวดา มีจริงหรือไม่ ถ้ามี มีอยู่อย่างไร ? เป็นปัญหาที่น่าสนใจของคนทั่วไปในโลก ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เป็นปัญหาที่ขบคิดกันมานานตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน    ผู้ที่สอนศีลธรรมในโรงเรียน ไม่ว่าระดับไหน มักจะได้รับคำถามเรื่อง ผี เทวดา นรก สวรรค์ อยู่เสมอ รวมทั้งพระสงฆ์ และอนุศาสนาจารย์ ก็ได้รับคำถามเช่นนี้ด้วย    ในฐานะที่เรานับถือพระพุทธศาสนา จึงควรศึกษาให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ถ่องแท้ เพราะเป็นปัญหาที่มีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาอย่างแยกไม่ออก ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธที่จะต้องค้นคว้าศึกษาให้ทราบว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างไรบ้าง ถ้าตรัสไว้ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อะไรบ้าง ใจความว่าอย่างไร เพื่อเราจะรับสิ่งเหล่านี้อย่างมีหลักฐาน ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง    เรื่องนรกสวรรค์ มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกกับเรื่องกรรม และเรื่องหลักสังสารวัฏตามหลักพระพุทธศาสนาพระพุทธศาสนายืนยันว่าคนเราตายแล้วเกิดจริง     พระพุทธสาสนายืนยันว่า การเวียนว่ายตายเกิดมีอยู่จริง ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่นในคัมภีร์ชาดก เปตวัตถุ วิมานวัตถุ และพระสูตรต่าง ๆ ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ปาปวรรคแห่งคัมภีร์ธรรมบทว่า
                “คพฺภเมเก อุปปชฺชนฺติ                 นิรยํ ปาปกมฺมิโน                สคฺคํ สุคติโน ยนฺติ                 ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา.”    แปลว่า “คนบางพวกเกิดในครรภ์ คนบางพวกที่ทำกรรมชั่วไว้ไปนรก คนบางพวกที่ทำกรรมดีไว้ไปสู่สวรรค์ ส่วนท่านที่หมดกิเลสแล้วทั้งหลายย่อมนิพพาน”คำอ่าน “คัพ-ภะ-เม-เก-อุป-ปัช-ชัน-ติ-นิ-ระ-ยัง-ปา-ปะ-กัม-มิ-โน-สัค-คัง-สุ-คะ-ติ-โน-ยัน-ติ-ปะ-ริ-นิพ-พัน-ติ-อะ-นา-สะ-วา.”
     นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ในบรรดาพุทธภาษิตเป็นจำนวนมาก ที่ยืนยันการเวียนว่ายตายเกิด พระบาลีข้างต้นนี้คือพระดำรัสยืนยันของพระพุทธเจ้า     จากพระบาลีนั้จะเห็นได้ว่า คนเราตายแล้วเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ผู้ที่ตายแล้วไม่เกิดอีกนั้น คือ พระอรหันต์ ทำไม พระอรหันต์จึงไม่เกิดอีก ทั้งนี้ก็เพราะท่านหมดกิเลสอันเป็นเหมือนยางเหนียวในพืชแล้ว คือ ถ้าเป็นพืชก็ปลูกไม่ขึ้นเพราะหมดยางเหนียวแล้ว จิตของพระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว จึงไม่เกิดอีก แต่สำหรับเราทั้งหลาย เมื่อตายแล้ว แม้เราไม่อยากเกิดก็ค้องเกิดอีก เพราะเรายังมีกิเลสอันเป็นเหมือนยางเหนียวในพืชอยู่
กำเนิด ๔
     *สัตว์โลกที่ไปเกิดอยู่ในภูมิทั้ง ๓๑ ภูมินั้น ย่อมเกิดในกำเนิดทั้ง ๔ คือ* คำว่า “สัตว์ หรือ สัตว์โลก” แปลว่า “ผู้ที่ยังข้องอยู่” คือยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ ฉะนั้น จึงหมายรวมถึงมนุษย์ เทวดา พรหม ในทุกภพทุกภูมิและสัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ มิได้หมายเอาเฉพาะสัตว์ดิรัจฉานประเภทเดียว
          ๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์          ๒. อัณฑชะ เกิดในไข่          ๓. สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล          ๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น                (ม. มู. ๑๒/๑๖๙/๑๔๗)           ชลาพุชะกำเนิด ได้แก่สัตว์ที่เกิดในมดลูก คือ มนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานที่คลอดออกมาเป็นตัวและเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค กระบือ แมว เป็นต้น          อัณฑชะกำเนิด ได้แก่สัตว์ดิรัจฉานที่ออกมาเป็นไข่ก่อนแล้วจึงฟักออกมาเป็นตัว เช่น เป็ด ไก่ นก ปลา เป็นต้น     ชลาพุชะกำเนิดและอัณฑชะกำเนิดนี้ รวมเรียกว่า คัพภเสยยกะกำเนิด เพราะเกิดอยู่ในครรภ์ของมารดาก่อนภายหลังจึงออกจากครรภ์          สังเสทชะกำเนิด ได้แก่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยท้องพ่อแม่ แต่อาศักเกิดจากต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ หรือของโสโครก หรือที่ชุ่มชื้น เช่น เชื้อโรค และสัตว์เซลเดียว มี อมีบ้า พลามีเซี่ยม เป็นต้น           โอปปาติกะกำเนิด ได้แก่สัตว์โลกที่เกิดมาโดยไม่ได้อาศัยพ่อแม่และของโสโครก หรือที่ชุ่มชื้น แต่อาศัยอดีตกรรมอย่างเดียว และเมื่อเกิดก็เติบโตขึ้นทันที เช่น พวกสัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม มนุษย์ในสมัยต้นกัป* เป็นต้น
* ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์ที่มีขึ้นในยุคแรกในโลกนี้ เรียกว่า “มนุษยืในสมัยต้นกัป” และมนุาย์ในยุคแรกนี้จุติมาจากพรหมโลกชั้นอาภัสสรา ซึ่งได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีในตัวเอง สัญจรไปมาในอากาศ เมื่อมาอาศัยโลกนี้นานเข้า ร่างกายก็วิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเป็นมนุษย์หญิงชายสืบเชื้อสายกันมาจนถึงปัจจุบัน คคัญญสูตร ที. ปา. ๑๑/๕๖/๙๒-๙๓
องค์ประกอบในการเกิดมนุษย์
     ในมหาตัณหาสังขยสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการที่มนุษย์ได้ก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์มารดาว่า ต้องมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ           ๑. มาตา อุตุนี โหติ                        = มารดามีระดู          ๒. มาตาปิตโร สนฺนิปติตา โหนฺติ   = มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน          ๓. คนฺธพฺโพ ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ       = มีสัตว์มาเกิด                                   (ม. มู. ๑๒/๔๕๒/๔๘๗)
     เมื่อมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ครบถ้วนแล้ว การตั้งครรภ์ก็ย่อมมีขึ้นได้ แต่ถ้าไม่พร้อมทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว การตั้งครรภ์ก็มีไม่ได้      คำว่า “มารดามีระดู” นั้น หมายถึงมีจุติจิต หรือ จุติวิญญาณ เคลื่อนมาปฏิสนธิ จึงเกิดเป็นปฏิสนธิวิญญาณขึ้น และปฏิสนธิวิญญาณนี้เองเป็นจิตดวงแรกที่เกิดในชาติใหม่ และจัดเป็นส่วนนามที่สืบต่อมาจากภพชาติก่อน ๆ โดยนำเอาบุญ บาป กรรม กิเลสติดมาด้วย     ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ผู้ที่เกิดมาก็มีแต่นามกับรูป ๒ อย่างนี้เท่านั้น
ลำดับแห่งการพัฒนาการของทารกในครรภ์
     ในอินทกสูตร ยักขสังยุต พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการก่อกำเนิดมนุษย์ที่เจริญเติบโตอยู่ในครรภ์มารดาไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า                    ปฐมํ กลลํ โหติ                     กลลา โหติ อพฺพุทํ                    อพฺพุทา ชายเต เปสิ                     เปสิ นิพพตฺตตี ฆโน                    ฆนา ปสาขา ชายนฺติ                     เกสา โลมา นขาปิ จ                    ยญฺจสฺส ภุญชติ มาตา                     อนฺนํ ปานญฺจ โภชนํ                    เตน โส ตตฺถ ยาเปติ                     มาตุกุจฺฉิคฺคโต นโร.
แปลความว่า”รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเกิดเป็นอัพพุทะ จากอัพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้นก็มีผม ขน และเล็บ (เป็นต้น) เกิดขึ้น มารดาของทารกในครรภ์นั้นบริโภคน้ำข้าว โภชนาหารอันใด ทารกที่อยู่ในครรภ์นั้น ย่อมมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารนั้น ในครรภ์มารดานั้น”(สํ. ส. ๑๕/๘๐๓/๓๐๓)คำอ่านปะ-ฐะ-มัง-กะ-ละ-ลัง-โห-ติ กะ-ละ-ลา-โห-ติ-อัพ-พุ-ทังอัพ-พุ-ทา-ชา-ยะ-เต-เป-สิ เป-สิ-นิพ-พัต-ตะ-ตี-ฆะ-โนฆะ-นา-ปะ-สา-ขา-ชา-ยัน-ติ เก-สา-โล-มา-นะ-ขา-ปิ-จะยัญ-จัส-สะ-ภุญ-ชะ-ติ-มา-ตา อัน-นัง-ปา-นัญ-จะ-โภ-ชะ-นังเต-นะ-โส-ตัต-ถะ-ยา-เป-ติ มา-ตุ-กุจ-ฉิค-คะ-โต-นะ-โร
     กลละนี้เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกายที่ก่อกำเนิดขึ้นมา อันเป็นกรรมพันธุ์ที่มาจากพ่อแม่โดยตรง ในอรรถกถาพระวินัย* (* สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ หน้า ๕๓๕) ท่านกล่าวถึงรูปลักษณะของกลละไว้ว่า “กลลรูปของหญิงชายมีขนาดเท่าหยาดน้ามันงาที่ยกขึ้นมาด้วยปลายขนทรายข้างหนึ่ง (ติดปลายขนทรายขึ้นมา) ใสแจ๋ว” ฉะนั้น กลละก็คือ Germ Cell ตามหลักชีววิทยานั่นเอง     ในอรรถกถาสารัตถัปปกาสินี ท่านอธิบายถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มารดา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรข้าต้นนั้น โดยท่านกล่าวขยายความคาถาจากพระสูตรข้างต้นนั้นไว้ว่า     “ในสัปดาห์แรกแห่งการปฏิสนธินั้น เกิดเป็นกลลรูป คือเป็นหยาดน้ำใสเหมือนน้ำมันงา ในสัปดาห์ที่ ๒ หลังจากกลลรูปได้เกิดเป็นอัพพุทรูปขึ้น มีลักษณะเป็นฟอง สีเหมือนน้ำล้างเนื้อ ในสัปดาห์ที่ ๓ หลังจากอัพพุทรูป ก็ได้เกิดเปสิรูป ซึ่งมีลักษณะเหมือนชิ้นเนื้อที่เหลว ๆ สีแดง ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากเปสิรูป ก็ได้เกิดฆนรูปขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อน มีสัณฐานเหมือนไข่ไก่ ในสัปดาห์ที่ ๕ หลังจากฆนรูป จึงได้เกิดปัญจสาขาคือ รูปนั้นงอกออกเป็น ๕ ปุ่ม คือ เป็นศีรษะ ๑ มือ ๒ เท้า ๒ ต่อจากนั้น คือ ในระหว่างสัปดาห์ที่ ๑๒ ถึงสัปดาห์ที่ ๔๒ ผม ขน เล็บ ก็ปรากฏขึ้น” (สารัตถัปปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๓๕๑-๓๕๒)     การที่พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงพัฒนาการของทารกที่อยู่ในครรภ์อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่เป็น Germ Cell เป็นต้นมา จนถึงเป็นตัวทารกอย่างสมบูรณ์ นี้ก่อให้เกิดความทึ่งและความประหลาดใจให้แก่วงการแพทย์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสมัยเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้น ไม่มีเครื่องมือทันสมัย เช่น กล้องจุลทัศน์ หรือเอ็กซเรย์อันใดเลย แต่พระพุทธองค์ก็ทรงหยั่งทราบได้ชัดเจน เหมือนกับมีเครื่องมือเหล่านี้ และยังทรงรู้ซึ้งไปกว่านี้อีกมาก ข้อนี้เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์โดยแท้ อันไม่ใช่วิสัยที่ใครอื่นจะพึงรู้ได้ด้วยตนเอง.
อบาย ๔
    พระพุทธศาสนายืนยันว่า อบายนั้นมีอยู่จริง และคนที่ทำชั่วย่อมไปเกิดในอบายจริง ดังที่พุทธเจ้าตรัสไว้ใน อิติวุตตกะ ติกนิบาต แห่งคัมภีร์ขุททกนิกายว่า            ตโยเม ภิกฺขเว อคฺคี, กตเม ตโย, ราคคฺคิ โทสคฺคิ โมหคฺคิ. อิเม โข ภิกฺขเว ตโย อคฺคีติ.            ราคคฺคิ ทหติ มจฺเจ             รตฺเต กาเมสุ มุจฺฉิเต            โทสคฺคิ ปน พฺยาปนฺเน             นเร ปาณาติปาติโน            โมหคฺคิ ปน สมฺมุฬฺเห             อริยธมฺเม อโกวิเท.            เอเต อคฺคี อชานนฺตา             สกฺกายาภิรตา ปชา            เต วฑฺฒยนฺติ นิรยํ             ติรจฺฉานญฺจ โยนิโย            อสุรํ ปิตฺติวิสยญฺจ             อมุตฺตา มารพนฺธนา.ความว่า”ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้ คือ ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล (ย่อมเผาผลาญสัตว์ทั้งหลาย).    ไฟคือราคะ ย่อมเผาสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำหนัดแล้ว ผู้มกหมุ่นอยู่แล้วในกามทั้งหลาย แต่ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนทั้งหลาย ผู้พยาบาท ซึ่งชอบฆ่าสัตว์ ส่วนไฟคือโมหะ ย่อมเผานรชนทั้งหลาย ผู้หลงงมงาย ซึ่งไม่ฉลาดในอริยธรรม. ไฟทั้ง ๓ กองนี้ ย่อมเผาหมู่สัตว์ผู้ไม่รู้สึกว่าเป็นไฟ ผู้ยินดียิ่งในกายของตน สัว์เหล่านั้นพอกพูนนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน อสุรกาย และปิตติวิสัยอยู่ (ทำผู้ที่เกิดในอบายทั้งสี่ให้มีปริมาณมากขึ้น) จึงไม่พ้นจากบ่วงแห่งมาร (กิเลส) ไปได้”(อิติ. ขุ. ๒๕/๒๗๓/๓๐๑)คำอ่านภาษาบาลีข้างบนตะ-โย-เม-ภิก-ขะ-เว-อัค-คี-กะ-ตะ-เม-ตะ-โย-รา-คัค-คิ-โท-สัค-คิ-โม-หัค-คิ-อิ-เม-โข-ภิก-ขะ-เว-ตะ-โย-อัค-คี-ติ.รา-คัค-คิ-ทะ-หะ-ติ-มัจ-เจ รัต-เต-กา-เม-สุ-มุจ-ฉิ-เตโท-สัค-คิ-ปะ-นะ-พะ-ยา-ปัน-เน นะ-เร-ปา-ณา-ติ-ปา-ติ-โนโม-หัค-คิ-ปะ-นะ-สัม-มุฬ-เห อะ-ริ-ยะ-ธัม-เม-อะ-โก-วิ-เทเอ-เต-อัค-คี-อะ-ชา-นัน-ตา สัก-กา-ยา-ภิ-ระ-ตา-ปะ-ชาเต-วัฑ-ฒะ-ยัน-ติ-นิ-ระ-ยัง ติ-รัจ-ฉา-นัญ-จะ-โย-นิ-โยอะ-สุ-รัง-ปิต-ติ-วิ-สะ-ยัญ-จะ อะ-มุต-ตา-มา-ระ-พัน-ธะ-นา

ตาย


พระพุทธศาสนายืนยันว่าโลกหน้ามีจริง

        ผู้ไม่เชื่อเรื่องบุญ บาป เรื่องนรก สวรรค์ และไม่เชื่อเรื่อง โอปปาติกะกำเนิด เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงถือว่าเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อปัณณกสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ว่า        “สนฺติ คหปติโย เอเต สมณพฺราหฺมณา เอวํ วาทิโน เอวํ ทิฏฐิโน, (๑) นตฺถิ ทินฺนํ (๒) นตฺถิ ยิฏฐํ (๓) นตฺถิ หุตํ (๔) นตฺถิ สุกฏทุกฺกฏานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก (๕) นตฺถิ อยํ โลโก (๖) นตฺถิ ปโร โลโก (๗) นตฺถิ มาตา (๘) นตฺถิ ปิตา (๙) นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา (๑๐) นตฺถิ โลเก สมณพฺราหฺมณา สมฺมคฺคตา สมฺมาปฏิปนฺนา เย อิมญิจ โลกํ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺตีติ.”        ความว่า ” ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์บางพวกซึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า (๑) การให้ทานไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การเคารพบูชาไม่มีผล (๔) ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี (๕) โลกนี้ไม่มี (คือสัตว์จากโลกอื่นที่จะมาเกิดในโลกนี้ไม่มี) (๖) โลกอื่นไม่มี (คือสัตว์จากโลกนี้ที่จะไปเกิดในโลกอื่นไม่มี) (๗) คุณมารดาไม่มี (๘) คุณบิดาไม่มี (๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทราบชัดถึงโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาได้เอง และสามารถทำให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วยไม่มี (รวมเป็น มิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ)”        พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า          “สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ จะต้องเบื่อหน่ายในการประพฤติกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต (แต่) กลับไปยึดมั่นในการประพฤติอกุศ,ธรรม ๓ ประการ คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เพราะเหตุที่ว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่เห็นโทษของกุศลธรรม และไม่เห็นอานิสงส์ของกุศลธรรม ปรโลก (โลกหน้า) มีอยู่แท้ ๆ (สนฺตํเยว โข ปน ปรํ โลกํ =คำอ่าน=>สัน-ตัง-เย-วะ-โข-ปะ-นะ-ปะ-รัง-โล-กัง) เขากลับเห็นว่าไม่มี ความเห็นของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ ปรโลกมีอยู่แท้ ๆ แต่เขากลับพูดว่าไม่มี คำพูดของเขาจึงเป็นมิจฉาวาจา ปรโลกนี้มีอยู่แท้ ๆ เขากล่าวว่าไม่มี คนเช่นนี้ชื่อว่าคัดค้านต่อพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้กล่าวยืนยันว่าปรโลกมีอยู่……..”[มม. ๑๒/๑๐๕-๑๐๖/๑๐๑-๑๐๒]คำอ่านภาษาบาลีข้างบน”สัน-ติ-คะ-หะ-ปะ-ติ-โย-เอ-เต-สะ-มะ-ณะ-พราหมณ์-มะ-ณา-เอ-วัง-ทิฏ-ฐิ-โน. (๑) นัต-ถิ-ทิน-นัง (๒) นัต-ถิ-ยิฏ-ฐัง (๓) นัต-ถิ-หุ-ตัง (๔) นัต-ถิ-สุ-กะ-ฏะ-ทุก-กะ-ฏา-นัง กัม-มา-นัง-ผะ-ลัง-วิ-ปา-โก (๕) นัต-ถิ-อะ-ยัง-โล-โก (๖) นัต-ถิ-ปะ-โร-โล-โก (๗) นัต-ถิ-มา-ตา (๘) นัต-ถิ-ปิ-ตา (๙) นัต-ถิ-สัต-ตา-โอ-ปะ-ปา-ติ-กา (๑๐) นัต-ถิ-โล-เก-สะ-มะ-ณะ-พราหมณ์-มะ-ณา-สัม-มัค-คะ-ตา-สัม-มา-ปะ-ฏิ-ปัน-นา-เย-อิ-มัญ-จะ-โล-กัง-ปะ-รัญ-จะ-โล-กัง-สะ-ยัง-อะ-ภิญ-ญา-สัจ-ฉิ-กัตะ-วา-ปะ-เว-เทน-ตี-ติ.”
ภพภูมิที่สัตว์โลกไปเกิด
          ก่อนที่จะตอบว่า ตายแล้วไปไหน จะขอพูดเรื่องนรกสวรรค์ว่ามันอยู่ที่ไหน เพราะเมื่อตายแล้ว บางคนไปตกนรก บางคนไปเกิดใรสวรรค์ เรื่องนรกสวรรค์อยู่ที่ไหนนี้ เป็นปัญหาทางปรัชญาที่ขบคิดกันมานานตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเช่นกัน แต่ทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ยุติแล้ว ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่เขา เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้ว วางลงไปอย่างแน่นอนแล้วว่า คนเมื่อตายแล้ว ถ้ามีกิเลสก็ต้องเกิดอีก ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่เกิดอีก สำหรับผู้ที่หมดกิเลสนั้น หมดปัญหาไปแล้ว ส่วนผู้ที่ยังมีกิเลส ที่ตายแล้วต้องไปเกิดอีกนั้น จะไปเกิดที่ไหน ข้อนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องชี้แจงให้เข้าใจ          ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ภพภูมิที่สัตว์โลกไปเกิด มี ๓๑ ภูมิ คือ                  (๑) สวรรค์ชั้นกามาพจร ๖ ชั้น เป็นสวรรค์ที่มีเพศหญิงเพศชาย ยังเสวยกามคุณอยู่ อันได้แก่ ชั้นจาตุมหาราช, ชั้นดาวดึงศ์, ชั้นยามา, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัดดี                  (๒) สวรรค์ชั้นรูปพรหม (พรหมที่มีรูป ๑๖ ชั้น                   (๓) สวรรค์ชั้นอรูปพรหม (พรหมที่ไม่มีรูป) ๔ ชั้น                   (๔) อบายภูมิ ๔ คือ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน, ภูมิของเปรต, อสุรกาย (ผี) และนรก                  (๕) นมุษย์โลก โลกมนุษย์         ในอบายภูมิทั้ง ๔ นั้น สัตว์ดิรัจฉาน เปรตและอสุรกาย เกิดอยู่ในมนุษย์โลกนี้เอง ส่วนนรกและสวรรค์อยู่ที่ไหน เรื่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดสวรรค์และนรกอยู่ที่ไหน         ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นยืนยันว่า นรกสวรรค์นั้นมีแน่ แต่จะอยู่ที่ใดนั้น ข้อนี้เป็นเรื่องที่นักปราชญ์ทั้งหลายอธิบายกันในหลายแง่หลายมุม แต่ในที่นี้จะชี้ให้เห็นตามที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเรา เชื่อถือกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือนรกสวรรค์มีอยู่ ๓ ประเภท คือ                                   ๑. สวรรค์ในอกนรกในใจ                  ๒. สวรรค์และนรกในโลกมนุษย์                  ๓. สวรรค์และนรกในโลกอื่น
         ๑. สวรรค์ในอกนรกในใจ คำว่า “สวรรค์” หมายถึง ที่บันเทิง ที่รื่นเริง มีความสุข ส่วน “นรก” หมายถึงที่ตกต่ำ ที่เสื่อม ที่ไร้ความเจริญ มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน ฉะนั้น เมื่อใดก็ตาม ที่เรามีความสุข มีความเบิกบานใจ มีความสงบ มีความเยือกเย็น นั้นแหละคือสวรรค์ แต่เมื่อใดเราวุ่นวายจัด โกรธจัด หรือเดือดร้อน เพราะอำนาจของกิเลส เมื่อนั้นแหละไฟนรกคือกิเลส ก็เข้าไปจี้ใจเราให้เร่าร้อนกระวนกระวาย เพราะฉะนั้น บางคนตกนรกทั้งวัน เพราะจิตใจวุ่นวายเดือดร้อนตลอดเวลา เช่นบางคนโกรธจัด ก็ถูกไฟนรกคือความโกรธเผาไหม้ จนหน้าตาเหี่ยวแห้ง บางคนถึงกับเป็นโรคลำไส้ บางคนนอนไม่หลับเพราะไฟนรกเผาไหม้มาก บางคนเผาไหม้ตัวเองไม่พอ กลับไปเผาไหม้ผู้อื่นอีก แต่บางคนตกนรกไม่นาน คือโกรธคนอื่นไม่นาน ประเดี๋ยวก็หาย เพราะระงับหรือข่มไว้ได้ แต่บางคนใจดีมีเมตตาเข้ามาแทนที่ จึงทำให้พ้นจากนรกขึ้นสวรรค์ บางคนขึ้นไปอยู่บนสวรรค์เป็นเวลานาน เป็นวันก็มี เช่นคนที่มีจิตใจสงบเบิกบานด้วยอำนาจการประพฤติธรรม ดังนั้น ถ้าใครมี โลภ โกรธ หลง มากจนใจเร่าร้อนกระวนกระวาย นั้นแหละมีนรกในใจแล้ว ถ้าใครมีเมตตากรุณา มีจิตใจสงบเยือกเย็น นั้นแหละคือสวรรค์ ในวันหนึ่งๆ เราอาจตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ วันละหลายๆ ครั้ง คนขึ้นสวรรค์เราก็เห็นได้แล้ว คนตกนรกเราก็เห็นได้แล้ว         ๒. สวรรค์และนรกในโลกมนุษย์ คนที่ขึ้นสวรรค์หรือตกนรกก็ย่อมเป็นไปตามกรรมที่ตนทำไว้ กรรมนี้เองเป็นตัวบันดาลให้เราไปเกิดในสวรรค์หรือนรก และในโลกนี้ก็มีสวรรค์และนรกซ้อนกันอยู่ คือใครก็ตาม ถ้าเกิดมายากจนข้นแค้น เดือดร้อน เช่น บางคนตาบอด บางคนหูหนวก บางคนอวัยวะพิการ หรือเกิดในแหล่งสลัม ในที่มีความทุกข์เดือดร้อน นั้นคือนรกของเขา เมื่อเกิดแล้ว บางคนไปติดคุกติดตะรางเพราะทำกรรมชั่ว บางคนก็ถูกยิงถูกฆ่าตาย แม้ในคุกก็มีแดนต่าง ๆ เช่นแดนของนักโทษประหาร แดนขังเดี่ยว แดนขังมืด นั้นคือนรกเป็นแดน ๆ บางคนตายอย่างทรมาน มีความทุกข์แสนสาหัส สภาพอย่างนี้ คือนรกในโลกปัจจุบัน เราเห็นกันอยู่ในโลกเรานี้         ส่วนสวรรค์ในโลกมนุษย์นั้นคือที่เช่นไร คือบางคนเกิดมามีแต่ความสุข เช่นเกิดมาเป็นลูกเศรษฐี เป็นใหญ่เป็นโต หรือเป็นพระมหากษัตริย์ หรือเป็นคนมีฐานะร่ำรวย ร่างกายก็สวยงาม เครื่องบำรุงความสุข เช่นเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องใช้ก็มีมาก สติปัญญาก็เฉียบแหลม น้ำเสียงก็ไพเราะน่าฟัง แวดล้อมไปด้วยญาติพี่น้องและบริวาร บ้านก็เหมือนกับวัง กรือเป็นปราสาทราชวังทีเดียว สภาพเช่นนี้คือสวรรค์ ผู้ที่เกิดมาเช่นนี้คือขาวสวรรค์ในโลกมนุษย์ ส่วนใจของเขาจะขึ้นสวรรค์หรือไม่แล้วแต่ใจของเขา แต่เขาได้เกิดอยู่ในสวรรค์แล้ว และการที่เขาเกิดมาได้รับสิ่งเหล่านี้ก็เพราะบุญที่เขาทำไว้นั่นเอง         ผู้เขียนได้คุ้นเคยกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคตา จะไปไหนมาไหนต้องใส่แว่นเป็นประจำ จึงเรียนถามท่านว่า “หากไม่ใส่แว่นจะมองเห็นหรือเปล่า”         ท่านตอบว่า “มองไม่ค่อยเห็น จะเห็นแต่เพียงรางๆ” ข้าพเจ้าเรียนถามท่านว่า “ท่านพอจะนึกออกไหมว่า มันมีกรรมเก่าอะไรบ้างในชาตินี้ที่ทำให้ท่านต้องเป็นเช่นนี้”         ท่านตอบว่า “ผมนึกได้”         ข้าพเจ้าถามว่า “ท่านทำอะไรผิด”         ท่านตอบว่า “ตอนผมเป็นเด็ก ๆ ผมจับตั๊กแตนได้ แล้วบีบตามันให้บุ๋มเข้าไปข้างในเบ้าตาของมัน แล้วก็ปล่อยให้มันบินไป มันก็บินไปชนอะไรต่ออะไร ทำความสนุกชอบใจให้แก่ผมมาก และผมได้บีบตาตั๊กแนไปมากต่อมาก ส่วนแมลงปอนั้น ผมจะเด็ดหางของมันออกแล้ว ใส่หญ้าเข้าไปในปลายหางของมัน แล้วปล่อยให้มันบินไป มองดูสนุก นี่แหละกรรมที่ผมทำไว้”         แล้วท่านพูดต่อไปว่า “ก่อนที่ผมจะมาบวช ผมถูกไม้ทิ่มตาข้างหนึ่ง ทำให้ตาข้างนั้นแตก เหลืออีกข้างที่ใช้การได้ก็มาเกิดเป็นต้อขึ้นมาอีก”         อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่ากรรมทันตาเห็น กรรมนี้มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เป็นทั้งกรรมในอดีตและปัจจุบันที่เราทำไว้ สลับซับซ้อนกันอยู่ ทำให้เราได้ผลของกรรมเหล่านั้น บางคนผ่าตัดแล้วผ่าตัดอีกหลายครั้งหลายหน บางคนถึงกับพิการ และบางคนถึงตายไปเลยก็มี คนป่วยบางคนเจ็บปวดมากและร้องครวญครางอย่างน่าสงสาร ทั้งนี้ก็เนื่องจากกรรมชั่วที่ตนทำไว้ ที่ชี้แจงมาให้เห็นนี้คือสวรรค์นรกในโลกมนุษย์         ๓. สวรรค์และนรกในโลกอื่น ทางพระพุทธศาสนาถือว่า โลกนั้นไม่ใช่จะมีแต่เพียงโลกนี้เท่านั้น แต่ยังมีโลกอื่น ๆ อีกมาก คือ ยังมีดวงดาวในกาแล็กซี่ (Galaxy) หรือในจักวาลอื่น ๆ อีกมากมายเหลือจะคณนานับ เช่น ดังกล่าวไว้ในพระบาลี ในตอนท้ายของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า                  “ทสสหสฺสี โลกธาตุ สงฺกมฺปิ สมฺปกมฺปิ สมฺปเวธิ แปลว่า (เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักรจบลง) หมื่นโลกธาตุสะท้านสะเทือน หวั่นไหว”         หลักทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า ยังมีดวงดาวในจักวาลอื่น ๆ อีกมาก นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเพิ่งจะเห็น และก็ยังมีอีกมากที่นักวิทยาศาสตร์ยังค้นไปไม่ถึง แล้วเราจะยึดมั่นว่า “ดาวดวงนี้เท่านั้นมีมนุษย์หรือสัตว์โลกอยู่ ดาวดวงอื่นๆ ไม่มีสัตว์โลก” เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ว่ามีหรือไม่มี จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะพูดอย่างนั้น เพราะในดาวอื่น ๆ ถ้ามันมีอุณหภูมิหรือสิ่งต่างๆ เหมาะสมแล้ว ก็ต้องมีสัตว์โลกที่เกิดอยู่บนโลกหรือบนดวงดาวเหล่านั้น          อาจารย์เสถียร โพธินันทะ อดีตอาจารย์ในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญมากทางพระพุทธศาสนาผู้หนึ่ง และเป็นเป็นอาจารย์ของผู้เขียน ได้กล่าวไว้ว่า “การหมุนรอบตัวเองของดวงดาวแต่ละดวงมีความเร็วไม่เหมือนกัน ถ้าหมุนช้าก็ทำให้วันคืนของดวงดาวนั้นช้า ถ้าหมุนเร็วก็ทำให้วันคืนของดวงดาวนั้นเร็วไปด้วย อย่างดาวพฤหัสหมุนรอบตัวเอง ๑ รอบ ใช้เวลาถึง ๑ ปี ถ้าสัตว์โลกอยู่บนดาวดวงนั้นก็เท่ากับ ๑ วัน ของดาวพฤหัสเท่านั้นเอง ดาวบางดวงอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จึงร้อนแรงมาก ถ้าสัตว์โลกที่เกิดอยู่บนดวงดาวนั้นก็เท่าเกิดอยู่ในอเวจีมหานรก หรือดาวบางดวงอยู่ไกลดวงอาทิตย์มาก อากาศก็หนาวมาก สัตว์โลกที่เกิดในที่นั้นก็เหมือนเกิดในโลกันตริยนรก แล้วทำไมสัตว์นรกเหล่านั้นจึงไม่ตาย ทนอยู่ได้อย่างไร, ข้อนี้ก็เช่นเดียวกับหนอนเกิดในพริก มันไท่ตาย ก็เพราะกรรมเลี้ยงเอาไว้ให้มีชีวิตอยู่ได้ เป็นธรรมชาติของมันเอง”
ปายาสิราชัญญสูตร
         เพื่อจะอธิบายเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ และเรื่องนรกสวรรค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะได้นำเอาข้อความใน ปายาสิราชัญญสูตร อันเป็นการโต้ตอบปัญหาเรื่องนรกสวรรค์และวิญญาณกัน ระหว่างพระกุมารกัสสปเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่มีความสามารถมากองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล กับ พระเจ้าปายาสิ ซึ่งเป็นเจ้าครองนครที่ไม่ยอมเชื่อเรื่องบาปบุญนรกสวรรค์ พระสูตรนี้ปรากฏอยู่คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค ใจความของพระสูตรนี้มีว่า         ในสมัยหลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้านิพพานไปแล้วไม่นาน เจ้าครองนครองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าปายาสิ เป็นผู้ครองเสตัพยนคร เจ้าครองนครผู้นี้มีความเชื่อมั่นว่า ตายแล้วสูญ ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี พระองค์ได้เคยเสด็จไปโต้ตอบปัญหาเรื่องนี้กับสมณพราหมณ์ต่างๆ มามากต่อมาก จนทำให้สมณพราหมณ์ทั้งหลายในสมัยนั้นเกิดครั่นคร้ามไม่อยากจะโต้ตอบด้วย เพราะพระองค์ทรงจัดเจนในการโต้คารมเป็นอย่างยิ่ง. วันหนึ่ง พระกุมารกัสสปเถระ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก ได้จาริกไปในแคว้นโกศล และได้แวะพักสั่งสอนประชาชนอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด อันตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเสตัพยนคร มีประชาชนพากันไปฟังธรรมเป็นจำนวนมาก. พระเจ้าปายาสิเมื่อทรงทราบเข้าเช่นนั้น จึงได้เสด็จไปโต้คารมในหัวข้อที่ว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่         เมื่อพระกุมารกัสสปเถระให้โอกาสแล้ว พระเจ้าปายาสิจึงได้ตรัสแสดงความเห็นของพระองค์ประเด็นแรกขึ้นว่า         “มีแต่โลกนี้เท่านั้น โลกหน้าไม่มี โลกอื่นไม่มี”         พระเถระถามว่า “ก็ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวอื่นๆ ที่เห็นอยู่ เป็นโลกนี้ หรือเป็นโลกอื่นเล่า”         พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า “เป็นโลกอื่น”         แล้วพระเถระจึงได้ตอบว่า “เมื่อเห็นอยู่เช่นนี้ ไฉนจึงตรัสว่า โลกอื่นไม่มีเล่า”         พระเจ้าปายาสิยังไม่ทรงเชื่อ แล้วตรัสต่อไปว่า “ข้อนั้น จงยกไว้ก่อน, แต่มีปัญหาอยู่ว่า ถ้าโลกหน้ามีจริง ไฉนญาติมิตรของข้าพเจ้าทำกรรมชั่วเอาไว้ เมื่อเขาจวนจะตาย ข้าพเจ้าได้สั่งพวกเขาว่า ถ้าพวกท่านไปตกนรกแล้ว จงรีบกลับมาส่งข่าวให้ข้ารู้ด้วยว่า นรกมีจริงนะ แต่ข้าพเจ้าก็คอยปีแล้วปีเล่า ไม่เห็นมีผู้ใดมาส่งข่าวเลย นี้ก็แสดงว่านรกไม่มีอยู่จริง คนเราตายแล้วก็สูญเท่านั้น”         พระเถระยกอุปมาเปรียบเทียบแถลงให้ทรงฟังว่า “เปรียบเหมือนโจรที่ทำผิดถูกตำรวจจับได้ แล้วนำตระเวนไปสู่ที่ประหารชีวิต โจรนั้นจะขอร้องผ่อนผันต่อเจ้าหน้าที่ว่าขอให้ปล่อยเขาไปบอกพวกพ้องเสียก่อนจะได้หรือไม่”         ตรัสตอบว่า “ไม่ได้”         พระเถระก็กล่าวว่า “อุปมานี้ฉันใด สัตว์ที่ตกนรกแล้วก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์ในนรกแผดเผาอยู่ และย่อมไม่ได้รับอนุญาตจากนายนิรยบาลให้กลับมาเล่าให้พระองค์ทรงทราบได้เลย”         พระเจ้าปายาสิยังไม่ทรงเชื่อ ตรัสต่อไปว่า “มีปัญหาอยู่ว่า สมณพราหมณ์ที่ประพฤติสุจริต บำเพ็ญความดี เมื่อท่านเหล่านั้นจวนจะตาย ข้าพเจ้าได้สั่งไว้ว่า ถ้าท่านไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์แล้ว จงกลับมาบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยว่า สวรรค์มีจริง แต่ก็คอยกันเป็นปีๆ หามีใครมาบอกไม่ นี้ก็แสดงว่าสวรรค์ไม่มีอยู่จริง คนเราตายแล้วก็สูญเท่านั้น”         พระเถระยกอุปมาเปรียบเทียบให้ทรงทราบอีกว่า “เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่งตกจมลงไปในหลุมอุจจาระจนมิดศีรษะ แล้วมีผู้ช่วยให้พ้นขึ้นมาได้ ให้อาบน้ำชำระกายให้สะอาดแล้วให้เสวยกามสุขอยู่บนปราสาท อยากถามว่าบุรุษผู้นั้นยังจะพอใจตกลงไปในหลุมคูถนั้นหรือไม่”         พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า “ไม่มีใครต้องการทำเช่นนั้นอีก”         พระเถระอธิบายต่อไปว่า “พวกที่ไปเกิดในสวรรค์ก็เหมือนกัน ย่อมเพลิดเพลินด้วยความสุขในสวรรค์ เสวยกามคุณทั้ง ๕ อันเป็นทิพย์อยู่ โลกมนุษย์จึงปรากฏแก่เทวดาดุจหลุมคูถ ที่ไหนเขาจะกลับมาทูลให้พระองค์ทรงทราบได้. อนึ่งเล่า วันเวลาในสวรรค์ก็นานกว่าวันเวลาในโลกมนุษย์ เช่น ร้อยปีในโลกมนุษย์ เท่ากับวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พันปีทิพย์เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดาวดึงส์ ท่านผู้ทำความดีเหล่านั้นไปเกิดในที่นั้นแล้ว คิดว่าอีก ๒ – ๓ วันจะมาทูลให้พระองค์ทรงทราบ จะมาทูลได้หรือไม่”         พระเจ้าปายาสิตรัสว่า “ไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าก็คงตายไปเสียแล้ว”         พระเจ้าปายาสิตรัสท้วงว่า “ใครนะช่างรู้ว่าวันเวลาในสวรรค์กับมนุษย์ต่างกัน และสามารถรู้ว่า เทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนขนาดนั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลย”         พระเถระทูลว่า “เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด มองอะไรไม่เห็นเลย จึงกล่าวว่า สีดำ สีขาว และสีเหลืองเป็นต้นไม่มี คนที่เห็นสีเช่นนั้นก็ไม่มี ดวงดาว พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่มี ผู้เห็นดวงดาวเป็นต้นนั้นก็ไม่มี เพราะข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็น สิ่งนั้นจึงไม่มี ผู้นั้นจะชื่อว่ากล่าวชอบหรือไม่”         ตรัสตอบว่า “กล่าวไม่ชอบ”         พระเถระจึงทูลว่า “พระองค์ปฏิเสธเรื่องเทพชั้นดาวดึงส์ ก็เช่นกัน เพราะสมณพราหมณ์บางพวกที่อยู่ในป่าอันเงียบสงัด ไม่ประมาท ทำความเพียรฝึกจิตของตนอยู่จนได้ทิพยจักษู สามารถมองเห็นโลกอื่น และเห็นสัตว์จำพวกโอปปาติกะ (คือสัตว์จำพวกที่เกิดผุดขึ้นเป็นตัวตนทีเดียว เช่น เทวดา และสัตว์นรกเป็นต้น) ด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ เหนือจักษุของมนุษย์ก็มีอยู่ เรื่องของโลกหน้าพึงเห็นได้ด้วยวิธีอย่างนี้ จึงไม่ควรเข้าใจว่าพึงเห็นได้ด้วยตาเนื้อนี้เลย”         พระเจ้าปายาสิทรงแย้งว่า “ถ้าอย่างนั้น ทำไม พวกสมณพราหมณ์ผู้มีศีล ผู้ประพฤติธรรมยังไม่อยากตาย อยากมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเมื่อตายไปแล้วก็จะไปบังเกิดในสวรรค์ มีความสุขดีกว่าอยู่ในชาตินี้ ซึ่งควรจะฆ่าตัวตายเสีย แต่เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะดีกว่าชาตินี้ แต่กลับรักตัวกลัวตายกันทุกคน ไม่เห็นใครอยากตาย ข้อนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าโลกหน้ามีจริง สัตว์จำพวกโอปปาติกะมี และผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี”         พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า “เปรียบเหมือนพราหมณ์คนหนึ่งมีภริยา ๒ คน คนหนึ่งมีบุตรชาย อายุ ๑๐ หรือ ๑๒ ปี อีกคนหนึ่งมีครรภ์จวนคลอด พราหมณ์นั้นได้ถึงแก่กรรมลง มาณพผู้เป็นบุตรจึงพูดกับมารดาเลี้ยงว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงตกเป็นของข้าพเจ้าหมด ของท่านไม่มีเลย” นางพราหมณีผู้เป็นมารดาเลี้ยงตอบว่า “จงรอก่อนจนกว่าฉันจะคลอด ถ้าคลอดเป็นชายก็จะได้ส่วนแบ่งส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นหญิง แม้น้องหญิงนั้นก็ตกเป็นสมบัติของเจ้า” (วัฒนธรรมเกี่ยวกับการจัดมรดกของพวกพราหมณ์นั้น หญิงไม่มีสิทธิ์อะไรในทรัพย์ของบิดาเลย สุดแต่ชายผู้เป็นพี่จะจัด เพราะตัวเองก็ตกอยู่ในฐานะที่พี่ชายจะใช้สอย หรือเอาเป็นภริยาได้ ถ้าเป็นน้องต่างมารดา) แต่มาณพนั้นก็เซ้าซี้อยู่อย่างเดิม จนนางพราหมณีนั้นถือเอามีดเข้าไปในห้อง ผ่าท้องเพื่อจะดูว่าเด็กในท้องเป็นชายหรือหญิง จึงเป็นการทำลายชีวิตของตนเอง ทำลายเด็กในครรภ์ และทำลาบทรัพย์สมบัติ เพราะเป็นผู้โง่เขลา แสวงหาทรัพย์สมบัติโดยไม่ใช่ปัญญาจึงถึงความพินาศ แต่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีธรรมอันดี ย่อมไม่เป็นเช่นนั้น คือ ย่อมไม่ชิงสุกก่อนห่าม ย่อมรอจนกว่าจะสุก สมณพราหมณ์เหล่านี้มีชีวิตอยู่นานเพียงใด ผู้อื่นก็ได้ประสบบุญมากเพียงนั้น และท่านก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เหมือนหญิงผู้ฉลาดรักษาครรภ์ของตนให้ครบ ๑๐ เดือน ฉะนั้น”         พระเจ้าปายาสิก็ยังไม่ทรงเชื่อ แล้วพระองค์ก็ได้นำข้อมูลที่พระองค์ได้ทรงทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มาค้านว่า “พระองค์เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ใส่ลงไปในหม้อทั้งเป็น ปิดฝาแล้วเอาหนังสดรัด เอาดินเหนียวที่เปียกยาให้แน่น แล้วเอาตั้งบนเตาไฟ เมื่อรู้ว่าตายแล้วก็ให้ยกหม้อลงมา กะเทาะดินที่ยาออก เปิดฝา ค่อยๆมองดูเพื่อจะดูวิญญาณของโจรนั้นออกไป ก็ไม่เห็นเลย จึงไม่เชื่อว่าวิญญาณมีจริง ไม่เชื่อว่าคนเราตายแล้วเกิดจริง” พระเถระทูลถามว่า “พระองค์ทรงระลึกได้หรือไม่ว่า เคยบรรทมหลับกลางวันแล้วทรงฝันเห็นสวน ป่า ภูมิสถาน และสระอันน่ารื่นรมย์”         ตรัสว่า “ระลึกได้”         พระเถระทูลถามว่า “ก็ในสมัยนั้นพวกคนที่คอยเฝ้าพระองค์มีอยู่หรือไม่”         ตรัสตอบว่า “มี”          พระเถระทูลถามว่า “พวกคนเหล่านั้นเห็นชีวะ หรือวิญญาณของพระองค์ออกมาจากร่างของพระองค์หรือไม่”         ตรัสตอบว่า “ไม่เห็น”           พระเถระจึงทูลว่า “คนมีชีวิตอยู่ไม่อาจเห็นวิญญาณของพระองค์ผู้ทรงพระชนม์ชีพอยู่ ไฉนพระองค์จะเห็นวิญญาณของคนตายเข้าออกได้”         พระเจ้าปายาสิตรัสแย้งว่า “พระองค์เคยรับสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ ให้ชั่งน้ำหนักดูเมื่อเป็น แล้วเอาเชือกรัดคอให้ตายแล้วชั่งดูอีก ก็ปรากฏว่า ในขณะที่ยังเป็นอยู่ มีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า ใช้งานได้ดีกว่าเมื่อตายแล้ว ก็เมื่อวิญญาณออกจากร่างไปแล้ว เหตุไฉนจึงกลับหนักกว่าเมื่อวิญญาณยังอยู่ เหตุนี้ จึงไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่”         พระเถระทูลเปรียบเทียบให้ฟังว่า “เหมือนท่อนเหล็กที่เผาไฟแล้ว ความร้อนยังระอุอยู่ ย่อมมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่าท่อนเหล็กท่อนเดียวกันนั้นที่ยังเย็นอยู่ ฉันใด คนตายเมื่อร่างกายภายใน พร้อมทั้งวิญญาณ พรากจากกันแล้ว ก็ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ฉันนั้น”         พระเจ้าปายาสิก็ไม่ทรงเชื่อ ตรัสต่อไปอีกว่า “ข้อนี้ยกไว้ก่อน, พระองค์เคยรับสั่งให้จับโจรฆ่าให้ตาย โดยไม่ทำร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งให้บอบช้ำ และเมื่อโจรนั้นจวนจะตายแน่แล้ว ก็สั่งจับให้นอนหงาย เพื่อจะดูวิญญาณออกจากร่าง ก็ไม่เห็นวิญญาณออกไป และสั่งให้พลิกโจรนั้นไปในอิริยาบถต่างๆ เช่นให้เอาศีรษะลง เป็นต้นอีก ก็ไม่เห็นวิญญาณออกมาเลย จึงไม่เชื่อว่าวิญญาณมี”         ในข้อนี้ พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า “เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ เดินทางไปในขนบทชายแดนแห่งหนึ่ง เป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง แล้ววางสังข์ไว้บนดิน ชาวบ้านได้ยินเสียงสังข์ก็ชอบใจ แล้วพากันมารุมล้อม ถามว่าเสียงอะไร เขาตอบว่าเสียงสังข์ ชาวบ้านก็จับสังข์หงายขึ้น พร้อมกับพูดว่า “สังข์เอ๋ยจงเปล่งเสียง” แต่สังข์ก็ไม่เปล่งเสียง จึงจับคว่ำ จับตะแคง ยกขึ้น เอาหัวลง เอาฝ่ามือ,ก้อนดิน,ท่อนไม้และศัสตราเคาะ ดึงเข้ามา ผลักออกไป จับพลิกไปมา เพื่อจะให้สังข์นั้นเปล่งเสียง สังข์นั้นก็ไม่เปล่งเสียง คนเป่าสังข์เห็นว่า คนเหล่านั้นเป็นคนบ้านนอก เป็นคนเขลา หาเสียงสังข์โดยวิธีไม่แยบคาย จึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่าให้ดู ๓ ครั้ง แล้วหลีกไป คนเหล่านั้นจึงรู้ว่าสังข์ต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ คน ๑ ความพยายาม ๑ ลม ๑ จึงมีเสียงได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็มีเสียงไม่ได้ กายก็เช่นเดียวกัน ต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อายุ ๑ ไออุ่น ๑ วิญญาณ ๑ จึงสามารถยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นได้ และสามารถรู้สิ่งต่างๆ ได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้ ก็ทำอะไรไม่ได้ คนที่ค้นหาวิญญาณด้วยวิธีอันไม่ถูกต้อง ก็เป็นเหมือนคนป่า ขอร้องให้สังข์เปล่งเสียงฉะนั้น”         พระเจ้าปายาสิตรัสว่า “พระองค์เคยสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ตัดอวัยวะต่างๆ ออก เพื่อค้นหาวิญญาณก็ไม่พบ จึงไม่เชื่อว่า คนเราตายแล้วเกิดจริง” พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า “เหมือนเด็กน้อยคนหนึ่ง อยู่กับฤาษีผู้เป็นอาจารย์ในป่า ฤาษีต้องการให้เด็กนั้นเฝ้าอาศรมแต่ผู้เดียว ส่วนตนเองเดินทางไปในชนบท แต่ก่อนไปได้สั่งเด็กน้อยนั้นว่า เจ้าอย่าประมาทในการบูชาไฟ คือ คอยเอาฟืนใส่ในกองไฟอย่าให้ไฟดับได้ ถ้าไฟดับ นี่มีด นี่ไม้ นี่ไม้สีไฟ เจ้าจงเอาสิ่งเหล่านี้ทำให้ไฟติดขึ้น จงบูชาไฟต่อไป เมื่อฤาษีจากไปแล้ว เด็กมัวเล่นเพลินไป ไฟก็ดับ เด็กคิดถึงคำสั่งขึ้นมาได้ จึงเอามีดมาถากไม้สีไฟ ด้วยหวังจะให้ไฟเกิดขึ้น ก็ไม่ได้ จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ๓ ซีก จนถึง ๒๐ ซีก ก็ยังไม่ได้ไฟ จึงทำออกเป็นชิ้นๆ ใส่ครกตำ แล้วเอามาโรยที่ลม ด้วยหวังจะได้ไฟ แต่ก็ไม่ได้ ฤาษีกลับมาเห็นเช่นนั้น ถามทราบความแล้ว จึงคิดว่าเด็กนี้ยังอ่อน ไม่ฉลาด หาไฟอยู่โดยวิธีไม่ถูกต้อง จะได้ไฟอย่างไร จึงเอาไม้มาสีไฟให้เด็กดูถึงวิธีทำให้ไฟเกดิขึ้น พระองค์ก็เช่นเดียวกัน ปรารถนาจะค้นหาวิญญาณ แต่หาโดยวิธีไม่ถูกต้อง จึงไม่สามารถพบหลักความจริงข้อนี้ได้”         ในที่สุด พระเจ้าปายาสิต้องยอมจำนนต่อเหตุผล และความจริงที่พระเถระนำมาแสดง และพระองค์ได้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงสละความเห็นผิดเสียได้         จากเนื้อความในพระสูตรนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า คนในครั้งก่อนมีการค้นคิดเรื่องตายแล้วเกิดใหม่กันมากเพียงไร ทั้งเป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถของพระกุมารกัสสปเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่งของพระบรมศาสดา ในการโต้ตอบปัญหาเกี่ยวกับการเกิดใหม่ตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเราในฐานะที่นับถือพุทธศาสนาควรทราบเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง.ปรากฏการณ์ทางจิตเมื่อจวนเจียนจะตาย
         ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงพ้นความตายไปได้เลย นี้คือกฏธรรมชาติของทุกชีวิตที่เกิดมา และเมื่อมนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลายใกล้จะตาย หรือจวนเจียนจะสิ้นใจนั้น กรรมดีหรือกรรมชั่วที่เขาได้เคยทำไว้ จะแสดงปรากฏการณ์ทางจิตออกมาให้ทราบ และบางครั้งก็แสดงออกมาให้ปรากฏทางกายหรือทางวาจา อาการที่ปรากฏเมื่อจวนเจียนจะตายเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “มรณาสันนการ” และวิถีจิต (จิตที่ออกรับอารมณ์ทางทวารทั้งหก ทวารใดทวารหนึ่ง) ของผู้ที่จวนเจียนจะตายนี้ ท่านเรียกในคัมภีร์อภิธรรมว่า “มรณาสันนวิถี” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและน่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา เพราะในคัมภีร์อภิธรรมอธิบายเรื่องนี้ไว้ละเอียดถี่ถ้วนดีมาก ซึ่งจะถอดใจความนำมากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อความเข้าใจดีขึ้นในการค้นคว้าศึกษาเรื่องการเกิดใหม่ ดังต่อไปนี้
มรณาสันนวิถี                  มรณาสันนวิถี เป็นวิถีจิตใกล้จะตาย คือ เมื่อมรณาสันนวิถีเกิดขึ้นแล้ว จุติจิตย่อมเกิดขึ้นในลำดับที่ใกล้เคียงกัน จะไม่มีวิถีจิตที่มีอารมณ์เป็นอย่างอื่นเกิดคั่นระหว่างจุติจิตเลย         ในมรณาสันนวิถีนี้ มีชวนจิต* (* ชวนจิต คือจิตที่ทำหน้าที่เสพหรือเสวยอารมณ์ ในวิถีจิตหนึ่งมีชวนจิตได้ ๗ ขณะ บุญและบาป หรือความสำรวม และความไม่สำรวม จะเกิดขึ้นในชวนจิตนี้เอง คำอ่าน=>ชะ-วะ-นะ-จิต)เกิดขึ้นเพียง ๕ ขณะเท่านั้น เพราะเหตุที่จิตมีกำลังอ่อน เนื่องจากอำนาจของกรรมที่ส่งมานั้นใกล้จะหมดอำนาจอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่ง หทัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งของจิตมีแต่เสื่อมกำลังไปเรื่อยๆ กำลังของจิตก็อ่อน เมื่อสุดมรณาสันนวิถีแล้ว ต่อจากนั้นจุติจิตก็เกิดขึ้น ๑ ขณะเท่านั้น ซึ่งเรียกว่า “สัตว์ถึงความตาย”         ในทันทีที่จุติจิตดับลง ปฏิสนธิจิตต้องเกิดอย่างแน่นอน โดยไม่มีจิตอื่นมาคั่นในระหว่างเลย นี้หมายถึงจิตของสัตว์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์แล้ว เมื่อจุติจิตหรือจิตดวงสุดท้ายดับลงแล้วก็เข้าสู่นิพพาน ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป         มรณาสันนวิถีของปุถุชนและบุคคลทั้งหลายเมื่อใกล้จะตาย ก่อนที่จุติจิตจะเกิดขึ้น ถ้ามีรูป เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัส เป็นอารมณ์มรณาสันนวิถีเช่นนี้ เรียกว่า มรณาสันนวิถีทางปัญจทวาร แต่ถ้าเป็นความรู้สึกนึกคิดทางใจ มรณาสันนวิถีนั้น เรียกว่า มรณาสันนวิถีทางมโนทวาร
อารมณ์ของจิตเมื่อจวนเจียนจะตาย
         ธรรมดาว่า สัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เทวดา หรือพรหม ก็ตาม เมื่อใกล้จะตาย จะมีอารมณ์ ๓ ประการเกิดขึ้น คือ กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ในอารมณ์ทั้ง ๓ อย่างนี้ โดยมีอารมณ์ทั้ง ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง มาปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งในจำนวนทวารทั้ง ๖ คือ                  ๑. กรรม                  ๒. กรรมนิมิต                  ๓. คตินิมิต         ก. กรรม ได้แก่กรรมอารมณ์ (อารมณ์คือกรรม) ที่เกี่ยวกับกุศล อกุศล          กรรมอารมณ์ที่เกี่ยวกับกุศลนั้น ได้แก่บุญกุศลที่ตนได้กระทำมาแล้ว เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การฟังธรรม หรือการเจริญภาวนา ในสมัยเมื่อตนได้สร้างบุญกุศลเหล่านี้ ตนปีติโสมนัสอย่างไร เมื่อจวนจะใกล้ตาย ก็จะเป็นเหตุให้นึกถึงบุญกุศลนั้น มีปีติโสมนัสเกิดขึ้น คือมีจิตใจหน้าตาแช่มชื่นเบิกบาน คล้ายกับว่าตนกำลังทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม หรือเจริญภาวนาอยู่ในขณะนั้น จึงมักตายจากไปอย่างสงบ ไม่หลงตาย         ส่วนกรรมารมณ์ที่เป็นอกุศลนั้น คือ ตนเคยทำบาปอกุศลอย่างใดมา เช่น เคยฆ่าคน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เคยถูกจองจำเพราะทำทุจริต หรือเคยโกรธแค้นพยาบาทเป็นต้น ก็ให้นึกถึงบาปที่ตนเคยทำไว้ ทำให้มีความเสียใจ มีความเศร้าหมอง หรือมีความโกรธขึ้น คล้ายๆ กับว่าตนกำลังทำกรรมชั่วเหล่านั้น หรือกรรมเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นแก่ตนอยู่ในขณะเมื่อจวนจะตายนั้น จึงมักตายจากไปอย่างกระสับกระส่าย หรือหลงตาย         กรรมารมณ์เป็นความรู้สึกทางใจ จึงปรากฏได้ทางใจหรือทางมโนทวารอย่างเดียว ถ้ากรรมารมณ์ฝ่ายกุศลมาปรากฏก็นำไปสู่สุคติ แต่ถ้ากรรมารมณ์ฝ่ายอกุศลมาปรากฏก็นำไปสู่ทุคติ         ข. กรรมนิมิต คือ เครื่องหมาย หรืออุปกรณ์ในการทำกรรม ได้แก่อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย หรือสภาพที่รู้ทางใจ ที่เกี่ยวกับการทำกรรมของตนแต่ละบุคคลที่ตนเคยทำไว้แล้ว ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ย่อมแสดงนิมิตเครื่องหมายออกมาให้ปรากฏเมื่อจวนจะตาย         ถ้าเป็นฝ่ายบุญกุศล ก็ทำให้รู้เห็นเครื่องหมายแห่งบุญกุศลที่ตนเคยทำมา เช่น โบสถ์ วิหาร โรงเรียน โรงพยาบาลที่ตนเคยสร้าง เห็นภาพพระภิกษุที่ตนเคยบวช หรือบวชลูกหลาน เห็นพระพุทธรูปที่ตนเองเคยสร้าง เห็นขันข้าวหรือทัพพีที่ตนเคยตักบาตรเป็นต้น หรือภาพนิมิตแห่งกิริยาอาการที่ตนเคยทำบุญกุศลนั้นๆ มาปรากฏแก่ตนในเมื่อเวลาจวนจะตาย เมื่อจิตได้หน่วงเอาภาพนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ ให้เห็นเป็นนิมิตเครื่องหมาย หรืออุปกรณ์ในการทำบุญกุศลต่างๆ เหล่านั้นที่ตนเคยทำมา ก็ย่อมนำไปเกิดในสุขคติ เพราะมีจิตใจเบิกบานไม่เศร้าหมอง         แต่ถ้ากรรมนิมิตที่เป็นอกุศลกรรม เช่น เคยฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์มาปรากฏ ก็ทำให้เห็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำกรรม เช่น เห็น หอก ดาบ อวน เห็นเครื่องประหารเบียดเบียนสัตว์ที่เคยใช้ในการทำบาปมาแล้ว บางคนทำให้สะดุ้งหวาดเสียว ร้องให้เสียงลั่น คิดว่าจะมีคนมาทำร้ายตน บางคนเคยฆ่าหมู ก็ร้องเสียงเหมือนหมู ฆ่าวัวก็ร้องเสียงเหมือนวัว ถ้าเคยชนไก่ก็เอาหัวแม่มือทั้ง ๒ ของตนชนกัน แล้วร้องเหมือนเสียงไก่ชน ถ้ากรรมนิมิตฝ่ายบาปอกุศลมาปรากฏเป็นอารมณ์เมื่อจวนตายเช่นนี้ ก็ย่อมนำไปเกิดในทุคติ         กรรมนิมิตทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลดังกล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นเพียงคิดถึงสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น นิมิตนั้นๆ จะปรากฏทางมโนทวาร เป็นอตีตารมณ์ (อารมณ์อดีต) แต่ถ้าเห็นด้วยตาจริงๆ ได้ยินด้วยหูจริงๆ ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัสทางกายจริงๆ ก็เป็นนิมิตที่ปรากฏทางปัญจทวาร และเป็นอารมณ์ในปัจจุบัน         ค. คตินิมิต คือ นิมิต หรือเครื่องหมายที่บ่งบอกให้ทราบถึงคติ หรือภพที่จะไปเกิด จะไปเกิดในสุคติภพก็มีนิมิตบ่งบอกให้ทราบ จะไปเกิดในทุคติภพก็มีนิมิตบ่งบอกให้ทราบ         ถ้าเป็นคตินิมิตที่จะนำไปสู่สุคติ ก็จะปรากฏเป็นปราสาทราชวัง วิมาน ทิพยสมบัติ เทพบุตร เทพธิดา เห็นครรภ์มารดา เห็นวัดวาอาราม เห็นบ้านเรือนผู้คน หรือพระภิกษุสามเณร ซึ่งล้วนแต่เห็นสิ่งที่ดีๆ อย่างเช่น ธัมมิกอุบาสก เห็นรถทิพย์ ๖ คันมาจากสวรรค์ทั้ง ๖ ในขณะที่ตนจวนจะตาย ซึ่งกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท         ถ้าเป็นคตินิมิตที่จะนำไปสู่ทุคติ ก็มีสิ่งที่อยู่ในภพชาติที่จะไปเกิดใหม่นั้นมาปรากฏให้เห็น ถ้าจะไปเกิดในนรก ก็ปรากฏเห็นเป็นเปลวไฟนรก เห็นนายนิรยบาล เห็นสุนัข เห็นแร้ง กา เป็นต้น ที่กำลังจะเข้าทำร้ายตน ถ้าจะเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็จะเห็น เหว ถ้ำ ป่าทึบ หรือทุ่งหญ้า หนองน้ำ เป็นต้น ที่ตนจะต้องไปเกิด         คตินิมิตจะปรากฏได้ในทวารทั้ง ๖ แต่ที่ปรากฏส่วนมากทางจักษุทวารและมโนทวาร คือ เห็นทางตา และทางใจเป็นส่วนมาก และจัดเป็นอารมณ์ในปัจจุบัน         อารมณ์ของมรณาสันนวิถีนี้ ย่อมเป็นกรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฏแก่วิถีจิตที่ใกล้ชิดกับจุติจิตที่สุด หรือจะเรียกว่า “เป็นการฝันครั้งสุดท้ายในชีวิตก็ได้” ถ้าฝันไม่ดี คือ เห็นอารมณ์นิมิตไม่ดี ก็ไปเกิดในทุคติ ถ้าฝันดี คือเห็นอารมณ์ที่ดีก็ไปเกิดในสุคติ
กรรมที่ให้ผลตามลำดับ ๔ ประการ
          นิมิตทั้ง ๓ ประการที่เป็นอารมณ์ ปรากฏในมรณาสันนวิถีนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจกรรม ๔ ประการ ที่ให้ผลตามลำดับ คือ         ๑. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมอื่นไม่อาจจะห้ามหรือขัดขวางผลของกรรมประเภทนี้ และครุกรรมนี้ มีทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล         ครุกรรมฝ่ายกุศล ได้แก่มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง คือ รูปาวจรกุศล ๕ อรูปาวจรกุศล ๔ ที่จะนำไปเกิดเป็นรูปพรหม หรืออรูปพรหม          ส่วนครุกรรมฝ่ายอกุศล ได้แก่อนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตพระพุทธเจ้าให้ห้อ และทำสังฆเภท คือทำสงฆ์ให้แตกกัน         ๒. อาสันนกรรม กรรมที่ได้กระทำหรือระลึกได้เมื่อใกล้จะตาย คือก่อนที่มรณาสันนวิถีเกิด มีได้ทั้งกุศลอาสันนกรรม หรืออกุศลอาสันนกรรม ถ้าไม่มีครุกรรมแล้ว อาสันนกรรมย่อมให้ผล คือย่อมกระทำนิมิตที่เป็นกรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิตให้ปรากฏในมรณาสันนวิถีได้         ถ้าเป็นกุศลอาสันนกรรม ก็นำไปเกิดในสุคติภูมิ แต่ถ้าเป็นอกุศลอาสันนกรรม ก็นำไปเกิดในทุคติภูมิ         ๓. อาจิณณกรรม กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือทำเป็นประจำ มีทั้งกุศลอาจิณณกรรมและอกุศลอาจิณณกรรม อาจิณณกรรมนี้ ถ้าไม่มีครุกรรมและอาสันนกรรมแล้ว ก็ย่อมให้ผล โดยทำให้เป็นอารมย์แก่มรณาสันนวิถี ถ้าเป็นกุศลอาจิณณกรรม ก็นำไปสู่สุคติ แต่ถ้าเป็นอกุศลอาจิณณกรรม ก็นำไปสู่ทุคติ         อาจิณณกรรม คือ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำมาเป็นประจำ หรือที่ระลึกถึงบ่อยๆ เช่น ทำบุญตักบาตรทุกวัน ฆ่าสัตว์ทุกวัน หรือคิดถึงกรรมดีหรือกรรมชั่วที่ตนเองกระทำอยู่เสมอ ถ้าไม่มีครุกรรมหรืออาสันนกรรมแล้ว อาจิณณกรรมก็ย่อมปรากฏผล โดยทำอารมณ์แก่มรณาสันนวิถี ถ้าเป็นกุศลอาจิณณกรรม ก็นำไปสู่สุคติ แต่ถ้าเป็นอกุศลอาจิณณกรรม ก็นำไปสู่ทุคติ         ๔. กตัตตากรรม คือ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำไปโดยไม่ตั้งใจไว้ก่อน หรือกุศล อกุศลกรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน กรรมนี้จัดเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ท่านกล่าวว่า “กรรมที่นอกไปจากกรรม ๓ อย่างข้างต้น คือ ครุกรรม อาสันนกรรมและอาจิณณกรรม เป็นกรรมสักว่าทำเท่านั้น ชื่อ กตัตตากรรม*”(* อภิธัมมัตถวิภาวินี หน้า ๑๖๔)         ถ้าไม่มีครุกรรม อาสันนกรรม และอาจิณณกรรมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของกตัตตากรรม ถ้าเป็นกุศลกตัตตากรรม ก็นำไปสู่สุคติ แต่ถ้าเป็นอกุศลกตัตตากรรม ก็นำไปสู่ทุคติ
พระมหาโมคคัลลานะสัมภาษณ์นางเทพธิดา*(* เรื่องนี้ผู้เขียนถอดความจากเรื่อง ทีปวิมาน วิมานวัตถุ คัมภีร์ขุททกนิกาย และจากอรรถกถาวิมานวัตถุ คัมภีร์ปรมัตถทีปนี)
         “ดูก่อนเทพธิดา ท่านมีรูปงาม มีรัศมีรุ่งเรือง ส่องสว่างไสวไปทั่วทิศ ปานกับดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีผิวพรรณงามเช่นนี้ เพราะทำบุญอะไรไว้”         เนื้อความข้างต้นนี้ เป็นคำถามตอนหนึ่งของพระมหาโมคคัลลานะ ผู้มีโอกาสไปเยือนชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้ถามนางเทพธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งท่านได้พบในสวรรค์ชั้นนั้น         พระมหาโมคคัลลนะ เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้าในจำนวนพระมหาสาวก ๘๐ องค์ ท่านเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายในทางมีฤทธิ์ ท่านเป็นกำลังมากในการช่วยเผยแผ่พระศาสนาในสมัยพุทธกาล เพราะท่านสามารถปราบพวกคนที่ดุร้าย และพวกมิจฉาทิฏฐิให้กลับมาเป็นคนดี และนับถือพระพุทธศาสนาในที่สุด ความสามารถพิเศษอีกประการหนึ่งของท่านก็คือ ท่านสามารถไปเยี่ยมสวรรค์และแดนนรก ถามบุญกรรมที่เทพยดาและสัตว์นรกทำไว้ แล้วกลับมาเล่าให้พวกมนุษย์ได้ทราบ จนความสามารถในด้านนี้ของท่านก่อให้เกิดความริษยา และความอาฆาตขึ้นในหมู่ชนที่นับถือลัทธิศาสนาอื่นในสมัยนั้น และคิดกำจัดท่านเสีย เพราะพระมหาโมคคัลลานะเป็นกำลังสำคัญมากองค์หนึ่ง ที่ทำพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองมากเหนือลัทธิศาสนาอื่นๆ ในสมัยนั้น จนลัทธิอื่นต้องอับแสงลง เหมือนแสงหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นฉะนั้น         เล่ากันมาว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระมหาโมคคัลลานะอยู่ในที่เงียบสงัด วันหนึ่งท่านได้มาคำนึงว่า “บัดนี้ พวกมนุษย์ทั้งหลายได้ทำบุญไว้แล้วไปเกิดในสวรรค์ เสวยสมบัติอันเป็นทิพย์ก็มีอยู่มาก เราควรจะไปเที่ยวเทวโลก (สวรรค์) เอาเทวดาเป็นพยานในการทำความดี โดยให้เทวดาทั้งหลายแสดงบุญตามที่ตนทำไว้ และตามที่ตนได้รับแล้วนำมากราบทูลพระพุทธองค์ เมื่อพระองค์แสดงผลกรรมแก่มนุษย์ทั้งหลาย ก็จักทำให้ผู้ฟังเข้าใจดียิ่งขึ้น เหมือนกับชูดวงจันทร์ขึ้นในท้องฟ้าฉะนั้น ผลบุญที่บุคคลทำด้วยศรัทธา แม้จะทำด้วยของน้อย แต่ก็มีผลมาก เมื่อพระองค์ทรงแสดงผลบุญนั้น ก็จะได้นำเรื่องเทวดาผู้ได้วิมานมาปรารภเรื่อง แล้วทรงแสดงเทศนาให้เป็นประโยชน์แก่ชุมนุมชนมาก”         เมื่อพระมหาโมคคัลลานะคิดดังนี้แล้ว ท่านก็ลุกจากที่นั่ง นุ่งห่มสบงจีวรเรียบร้อยเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลความประสงค์ของตนให้ทรงทราบ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแล้ว ท่านก็ลาออกมาแล้วเข้าจตุตถฌาน (เข้าสมาธิจนถึงฌานที่ ๔ ) โดยมีอภิญญาเป็นพื้นฐาน (คือ ทำให้จิตมีอำนาจเป็นพิเศษ เช่น สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้เป็นต้น) เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็ไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้มีโอกาสเที่ยวไปตามวิมานต่างๆ และได้ไต่ถามถึงบุญกรรมที่เทวดานั้นๆ ได้ทำไว้ เทวดานั้นๆ ก็ได้แจ้งแก่พระเถระ เมื่อท่านกลับมาสู่มนุษย์ดลกแล้ว ก็ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ตามที่ตนได้สนทนากับเทวดาทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงเห็นดีด้วย จึงทรงยกเรื่องนั้นๆ ให้เป็นต้นเหตุ แล้วตรัสเทศนาแก่ประชุมชน         ดังนั้น วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะได้ไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้พบกับนางเทพธิดาองค์หนึ่งซึ่งเกิดอยู่ในวิมานทอง ท่านได้ถามนางเทพธิดานั้นว่า “ดูก่อนนางเทพธิดา ท่านมีรูปงาม มีรัศมีรุ่งเรือง ส่องสว่างไสวไปทั่วทิศ ปานกับดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีผิวพรรณงามเช่นนี้ เพราะทำบุญอะไรไว้ ผลที่น่าพอใจสำเร็จในวิมานนี้เพราะบุญอะไร อนึ่งโภคะอันเป็นที่น่ารักน่าพอใจทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะทำบุญอะไรไว้ ดูก่อนนางเทพธิดา ผู้มีรัศมีสุกใสไพโรจน์ล่วงเทพธิดาทั้งหลาย เพราะท่านทำบุญอะไรไว้ ท่านจึงมีอวัยวะทุกส่วนส่องสว่างไปทั่วทุกทิศ ดูก่อนเทพธิดา ผู้มีอานุภาพยิ่งใหญ่ อาตมาขอถามท่าน ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองถึงเช่นนี้ และรัศมีกายของท่านส่องสว่างไปทั่วทิศ เพราะทำบุญอะไรไว้”         เมื่อพระมหาโมคคัลลานะได้ถามเช่นนี้ นางเทพธิดานั้น ก็ได้ตอบพระเถระไปด้วยความยินดีว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ในชาติก่อน ครั้งเมื่อดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในนมุษย์โลก เมื่อถึงคืนเดือนมืดมาก ได้เวลาตามประทีป ดิฉันได้ให้ดวงประทีปอันเป็นอุปกรณ์กำจัดความมืดให้เป็นทาน อันผู้ใดก็ตาม เมื่อเวลาเดือนมืดมาก ได้ให้ประทีปเป็นทาน วิมานอันมีแสงสว่างเป็นผล ประดับด้วยดอกไม้จันท์และดอกบัวขาวเป็นจำนวนมากย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น อนึ่ง โภคทรัพย์ทั้งหลายอันเป็นที่เจริญใจทุกอย่าง เกิดแก่ดิฉัน เพราะการให้ประทีปนั้น และเพราะการให้ประทีปนั่นเอง ดิฉันจึงมีรัศมีสุกใสไพโรจน์มากกว่าเทวดาทั้งหลายผู้มีสรีระร่างทุกส่วนสว่างไสวไปทั่วทิศ”         เมื่อพระมหาโมคคัลลานะได้ฟังคำตอบของเทพธิดาองค์นั้นแล้ว ก็ได้แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อแสดงธรรมจบลง นางเทพธิดานั้น พร้อมทั้งบริวารก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล.
สามเณรสนทนากับเปรต*(* เรื่องนี้ ส่วนใหญ่ผู้เขียนถอดใจความจากเรื่องนาคเปรต เปตวัตถุ คัมภีร์ขุททกนิกาย และจากอรรถกถาเปตวัตถุ คัมภีร์ปรมัตถทีปนี)
         “ท่านทั้งสองมือถือค้อน เดินร้องไห้มีน้ำตานองหน้า มีตัวเป็นแผลแตกพัง เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ท่านทำบาปอะไรไว้ ท่านทั้งสองดื่มโลหิตของกันและกัน เพราะท่านได้ทำกรรมอะไรไว้”         นี้คือคำถามตอนหนึ่ง ซึ่งสามเณรผู้เป็นศิษย์ของพระสังกิจจเถระ ผู้ได้เห็นเปรตสองตน ซึ่งมีอาการแปลกประหลาด แล้วได้ถามขึ้นด้วยความอยากรู้         เล่ากันมาว่า สังกิจจสามเณร ผู้มีอายุ ๗ ขวบ ผู้เป็นศิษย์พระสารีบุตรเถระ ได้สำเร็จพระอรหันต์ในเวลาที่ปลงผม ต่อมา สามเณรได้ไปอยู่ป่าแห่งหนึ่งกับภิกษุ ๓๐ รูป และได้ใช้อำนาจฌานสมาบัติของตนป้องกันพระเถระ ๓๐ รูป ไม่ให้ถูกพวกโจรฆ่า ซ้ำยังสั่งสอนพวกโจรเหล่านั้นให้เลื่อมใส ให้บวชเป็นสามเณรทั้งหมด แล้วนำไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้สามเณรที่บวชใหม่ทั้งหมดนั้นสำเร็จพระอรหันต์ และให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อมา เมื่อสังกิจจสามเณรได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้ไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ผู้เป็นศิษย์ของท่าน         ในกรุงพาราณสีนั้น มีบุตรของพราหมณ์คนหนึ่ง ได้ฟังธรรมของพระสังกิจจเถระแล้วเกิดความสลดใจ ได้ออกบวชเป็นสามเณร แล้วได้ไปฉันที่เรือนลุงของตนเป็นนิตย์ แต่มารดาต้องการให้สามเณรสึกออกมาครองเรือน จึงได้พูดประโลมให้สามเณรนั้นพอใจกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นธิดาพี่ชายของตน สามเณรนั้นก็อยากจะสึก จึงไปหาพระสังกิจจเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์เพื่อขอลาสึก พระอุปัชฌาย์ยังไม่ต้องการให้สึก เพราะเห็นว่าสามเณรมีอุปนิสัยที่จะบวชในพระพุทธศาสนาได้ผลอยู่ จึงพูดว่า “สามเณร จงรอสักเดือนหนึ่งก่อน” สามเณรก็เชื่อฟัง แต่เมื่อครบหนึ่งเดือนแล้ว จึงไปขอลาสึกอีก พระเถระให้รอไปอีกกึ่งเดือน เมื่อเลยกึ่งเดือนไปแล้ว ก็ให้รอไปอีก ๗ วัน ในภายใน ๗ วันนั้น ได้เกิดพายุพัดใหญ่ขึ้นในเมืองพาราณสี ทำให้เรือนลุงของสามเณรล้มพังลง ลุงกับป้าพร้อมบุตรชาย ๒ คน และบุตรหญิง ๑ คน ถูกเรือนทับตาย ลุงกับป้าได้ไปเกิดเป็นเปรต บุตรกับธิดาได้ไปเกิดเป็นรุกขเทวดา อยู่มนุษย์โลกนี้เอง บุตรคนโตมีช้างเป็นพาหนะ บุตรคนเล็กมีรถม้าเป็นพาหนะ ธิดามีวอทองเป็นพาหนะ ส่วนลุงกับป้า คือพราหมณ์กับนางพราหมณีได้ถือเอาค้อนเหล็กใหญ่ทุบตีกัน ร่างกายที่ถูกทุบตีกันด้วยค้อนเหล็กใหญ่นั้นก็บวมขึ้นแล้วแตกในทันที เปรตทั้งสองนั้น ก็ได้ดื่มกินน้ำเหลืองและโลหิตของกันและกันเป็นอาหาร         ครั้งนั้น สามเณรนั้นก็ได้เข้าไปลาพระอุปัชฌาย์อีก โดยกราบเรียนว่า “พ้นวันที่กำหนดไว้แล้ว ผมจะกลับบ้าน ขออนุญาตให้ผมกลับบ้านเถิดครับ” พระสังกิจจเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าด้วยอำนาจอภิญญาจิต จึงได้พูดกับสามเณรว่า “เธอไปได้ แต่จงกลับมาในเวลาสิ้นแสงตะวันของสิ้นเดือน แล้วจงไปยืนอยู่ที่ข้างวิหารแห่งหนึ่ง”         สามเณรก็ได้ทำตามที่พระอุปัชฌาย์สั่ง ครั้งนั้น รุกขเทวดา ๒ องค์ พร้อมกับน้องสาวได้ผ่านไปทางนั้น เพื่อจะไปที่สมาคมของเหล่าเทพยดา ส่วนมารดากับบิดาของรุกขเทวดานั้น ซึ่งตายไปเกิดเป็นเปรต ในวันนั้นก็ได้เดินผ่านไปทางนั้น เปรตสองตนได้ถือค้อนเหล็กอันใหญ่ต่างได้กล่าวคำหยาบช้าต่อกัน แล้วก็ทุบตีกันเอง เมื่อสามเณรเดินผ่านไปทางนั้น พอดีเป็นเวลาสิ้นแสงพระอาทิตย์ พระสังกิจจเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ก็บันดาลให้สามเณรได้เห็นรุกขเทวดาและเปรตทั้งสองด้วยอำนาจฤทธิ์ของท่าน ด้วยต้องการจะให้สามเณรเกิดความสลดใจ แล้วจึงถามสามเณรว่า “เจ้าเห็นพวกที่ผ่านไปทางนี้หรือไม่” สามเณรตอบว่า “ผมเห็นครับ” “ถ้าอย่างนั้น เธอลองถามกรรมของเขาดูว่า พวกเขาได้ทำกรรมอะไรไว้” พระเถระกล่าวแนะนำขึ้น         เมื่อได้รับคำแนะนำจากอุปัชฌาย์เช่นนั้น สามเณรจึงถามว่า “คนหนึ่งขี่ช้างเผือกไปข้างหน้า คนหนึ่งขี่รถเทียมด้วยม้าอัสดรไปท่ามกลาง สาวน้อยขึ้นวอไปข้างหลัง เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทิศ ส่วนท่านทั้งสองมือถือค้อน เดินร้องไห้มีน้ำตานองหน้า มีตัวเป็นแผลแตกพัง ท่านเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบาปอะไรไว้ ท่านทั้งสองดื่มกินโลหิตของกันและกัน เพราะทำกรรมอะไรไว้”         เปรตทั้งสองฟังสามเณรถามแล้ว จึงตอบว่า “ผู้ที่ขี่ช้างเผือกชาติกุญชรไปข้างหน้าเป็นบุตรหัวปีของข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อเป็นมนุษย์เขาได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ จึงได้รับความสุขบันเทิงใจ ผู้ที่ขี่รถเทียมด้วยม้าอัสดร ๔ ตัว แล่นเรียบไปในท่ามกลางเป็นบุตรคนกลางของข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อเขาเป็นมนุษย์ เป็นคนไม่ตระหนี่ เป็นทานบดี (เป็นใหญ่ในการให้ทาน) รุ่งโรจน์อยู่ ส่วนนารีที่มีปัญญา ซึ่งมีดวงเนตรกลมงามแวววาวดุจตาเนื้อทราย ขึ้นวอทองไปข้างหลังนั้น นางเป็นธิดาสุดท้องของข้าพเจ้าทั้งสอง นางมีความสุขเบิกบานใจเพราะผลแห่งทาน เมื่อก่อนเขาทั้งสามมีใจเลื่อมใส ได้ถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เขาทั้งสามถวายทานแล้ว จึงอิ่มเอิบอยู่ด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ ส่วนข้าพเจ้าทั้งสองเป็นคนตระหนี่ ได้ด่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงมีร่างกายซูบซีด ดุจไม้ออ้ที่ถูกไฟไหม้”         สามเณรถามว่า “อะไรเป็นอาหารของท่าน อะไรเป็นที่นอนของท่าน และท่านผู้มีบาปมากยิ่งนักเลี้ยงอัตภาพให้เป็นอยู่ได้อย่างไร เมื่อโภคะเป็นอันมากมีอยู่ แต่ท่านก็ไม่ได้รับความสุข เสวยแต่ความทุกข์อยู่ในวันนี้”         เปรตทั้งสองตอบว่า “ข้าพเจ้าทั้งสองตีซึ่งกันและกัน แล้วกินเลือดและหนองของกันและกัน ได้ดื่มเลือดและหนองเป็นอันมากก็ยังไม่หายอยาก มีความหิวอยู่เป็นนิตย์ ชนทั้งหลายผู้ไม่ให้ทาน เมื่อตายไปแล้วก็เกิดในยมโลก ร่ำให้อยู่ เหมือนข้าพเจ้าทั้งสอง ใครก็ตามได้โภคทรัพย์ต่างๆ แล้วตนเองก็ไม่ใช้ ทั้งไม่ยอมทำบุญ ผู้นั้นจะต้องหิวกระหายในปรโลก ภายหลัง ถูกความหิวแผดเผาไหม้อยู่สิ้นกาลนาน เมื่อได้ทำกรรมชั่วที่มีผลเผ็ดร้อน มีทุกข์เป็นผล ย่อมประสบความทุกข์ ทรัพย์สมบัติจัดว่าเป็นของเล็กน้อย ผู้มีปัญญารู้อย่างนี้แล้วควรทำที่พึ่งให้แก่ตน บุคคลเหล่าใดเข้าใจทางธรรม เพราะได้ฟังธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ประมาทในการให้ทาน ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นลุงและป้าของสามเณรเอง”         เมื่อสามเณรได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็เกิดความสลดใจ จึงระงับความอยากสึกไว้ได้ แล้วเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ หมอบกราบลงแล้วเรียนว่า “ท่านได้ทำประโยชน์แก่กระผมโดยแท้ ได้ปลดเปลื้องกระผมออกจากความทุกข์ได้แล้ว บัดนี้ กระผมไม่ต้องการที่จะเป็นฆราวาสแล้ว กระผมยินดีต่อการประพฤติพรหมจรรย์”         ลำดับนั้น พระสังกิจจเถระ ได้บอกพระกรรมฐานที่เหมาะสมกับอุปนิสัยของสามเณร เมื่อสามเณรนั้นเจริญกรรมฐาน ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ พระสังกิจจเถระได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธองค์ก็ทรงถือเอาเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วตรัสเทศนาให้เป็นประโยชน์แก่มหาชน.

จบหน้า 1 อ่านต่อหน้า 2 ความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน