ฝัน-ทำไมจึงฝัน ฝันคืออะไร

ฝัน เป็นลำดับภาพ ความคิด อารมณ์ และการรับรู้ที่เกิดขึ้นนอกเหนืออำนาจจิตใจในจิตระหว่างช่วงที่แน่นอนของการหลับ

ฝันเกิดขึ้นในการหลับระยะ REM เป็นหลัก เมื่อกิจกรรมของสมองเพิ่มสูงขึ้นเสมือนว่ากำลังตื่นอยู่ การหลับระยะ REM สามารถบอกได้จากการกลอกไปมาของลูกตาขณะหลับ ทั้งนี้ ฝันสามารถเกิดได้ในการหลับขั้นอื่น แต่ฝันเหล่านั้นมีแนวโน้มสมจริงหรือผู้ฝันจำได้น้อยกว่ามาก[2]

ฝันกินระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่วินาทีไปจนถึงยี่สิบนาที บุคคลมักจำฝันได้มากกว่าเมื่อตื่นขึ้นหากฝันในระยะ REM โดยเฉลี่ย บุคคลมีฝัน 3 ถึง 5 ฝันต่อคืน ฝันมีแนวโน้มนานขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ระหว่างการหลับ 8 ชั่วโมง บุคคลจะใช้เวลากับการฝันสองชั่วโมง[3]

มีผู้มองว่า ฝันเชื่อมโยงกับจิตไร้สำนึก โดยมีตั้งแต่ปกติและสามัญไปจนถึงเหนือจริงหรือแปลกประหลาดเกิน ฝันสามารถมีได้หลายอารมณ์ เช่น กลัว ตื่นเต้น สนุกสนาน เศร้าโศก ผจญภัยหรือเกี่ยวกับเพศ เหตุการณ์ในฝันโดยทั่วไปอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ฝัน ยกเว้น lucid dream ที่ผู้ฝันรู้สึกตัว ฝันบางครั้งได้สร้างความคิดริเริ่มแก่บุคคลหรือให้ความรู้สึกถึงแรงบันดาลใจ

ฝันในสิ่งมีชีวิตอื่น

จากการวิจัยพบว่าสัตว์ก็มีฝันเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยเมื่อสัตว์หลับอยู่ในสถานะ REM สัตว์จะมีฝันเกิดขึ้น สัตว์ที่มีระยะของสถานะ REM นานที่สุดคือตัว อาร์มาดิลโล ที่มีลักษณะคล้ายตัวตุ่น สัตว์ที่มีฝันบ่อยที่สุดคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ประเภทนกจากการทดสอบฝันของแมวพบว่ามันมักจะฝันถึงการล่าเหยื่อโดยอ้างอิงจากลักษณะการเคลื่อนไหวของขาและร่างกาย ในขณะที่สุนัขได้มีการเคลื่อนไหวของช่วงขาในลักษณะของการวิ่งรวมถึงการเห่าในขณะหลับ

ฝันกับความเชื่อ

ชาวกรีกและโรมันโบราณเชื่อกันว่า ฝันคือสารจากพระเจ้า ชาวอียิปต์โบราณ เชื่อว่าผู้ที่เข้าใจฝัน คือบุคคลพิเศษ ในประเทศจีน เชื่อกันว่าฝัน คือการผละวิญญาณจากร่างหนึ่ง ไปสู่อีกร่างในโลกแห่งฝัน ที่ซึ่งร่างนั้นเพิ่งตื่น ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันบางชนเผ่า และชาวเม็กซิกันที่เจริญแล้ว เชื่อว่า ฝันคืออีกโลกหนึ่ง ที่เราไปเยือนในยามหลับ และในยุโรป ผู้คนเชื่อกันว่า ฝันคือสิ่งชั่วร้าย และอาจชักนำให้คนหันไปทำสิ่งเลวร้ายได้

ฝัน-ทำไมจึงฝัน ฝันคืออะไร 1

ฝันกับทางพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง สาเหตุแห่งความฝันไว้ ๔ ประการ คือ             
๑.  กรรมนิมิต [บุพพนิมิต ] กรรมดีหรือชั่วในอดีต จะมาให้ผล             
๒.  จิตอาวรณ์ [อนุภูติบุพพะ] จิตไปผูกพันอยู่กับสิ่งใดมากๆ ก็อาจฝันถึงสิ่งนั้นได้            
๓.  เทพสังหรณ์ [เทวโตปสังหรณ์] เทวดานำข่าวมาบอก อาจเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ได้            
๔.  ธาตุกำเริบ [ธาตุโขก] ร่างกายไม่ปกติ อาจทำให้ฝันไปได้แปลกๆ  

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ – หน้าที่ ๔๓๓ – ๔๓๕

อรรถกถา
          พึงทราบวินิจฉัยในสุปินสูตรที่  ๖  ดังต่อไปนี้:-
          บทว่า  มหาสุปินา  ความว่า  ชื่อว่า  มหาสุบิน  เพราะบุรุษผู้ใหญ่
พึงฝัน  และเพราะความเป็นนิมิตแห่งประโยชน์อันใหญ่.    บทว่า  ปาตุรเหสุ
แปลว่า   ได้ปรากฏแล้ว.
          ในบทนั้น  ผู้ฝันย่อมฝันด้วยเหตุ  ๔ ประการ  คือ  
เพราะธาตุกำเริบ  ๑
เพราะเคยเป็นมาก่อน  ๑  
เพราะเทวดาดลใจ   ๑  
เพราะบุรพนิมิต  ๑

ในฝันเหล่านั้น  คนธาตุกำเริบ  เพราะ(น้ำ)ดีเป็นต้น  เป็นเหตุทำให้กำเริบย่อมฝัน  เพราะ
ธาตุกำเริบ   และเมื่อฝัน   ย่อมฝันหลายอย่าง   เช่น   ฝันว่าตกจากภูเขา   ว่าไปทางอากาศ    
ว่าถูกเนื้อร้าย    ช้างและโจรเป็นต้นไล่ตาม.  

เมื่อฝันโดยเคยเป็นมาก่อน  ย่อมฝันถึงอารมณ์เป็นมาแล้วในกาลก่อน.  

สำหรับผู้ฝันโดยเทวดาดลใจ   ทวยเทพย่อมบรรดาลอารมณ์หลายอย่าง    
เพราะประสงค์ดีก็มี   เพราะประสงค์ร้ายก็มี  ผู้นั้นย่อมฝันเห็นอารมณ์เหล่านั้น   ด้วยอานุภาพของทวยเทพ
เหล่านั้น.  

เมื่อฝันโดยบุรพนิมิต   (ลางบอกล่วงหน้า)  ย่อมฝัน  อันเป็นบุรพนิมิต      
ของประโยชน์หรือของความพินาศที่ประสงค์จะเกิดด้วยอำนาจบุญและบาป  
ดุจพระชนนีของพระโพธิสัตว์  ได้นิมิตในการได้พระโอรส  
ดุจพระเจ้าโกศล   ทรงฝันเห็นสุบิน  ๑๖    
และดุจพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้แล    
ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์  ทรงฝันเห็นมหาสุบิน  ๕  ประการนี้.

ในฝันเหล่านั้น ฝันเพราะธาตุกำเริบ และเพราะเคยเป็นมาก่อน ไม่จริง.

ฝันเพราะเทวดาดลใจ  จริงบ้าง  ไม่จริงบ้าง  เพราะว่า  เทวดาทั้งหลาย
โกรธขึ้นมา  ประสงค์จะให้ถึงความพินาศด้วยอุบาย จึงแสร้งทำให้ผิดปกติ.

แต่ฝันเพราะบุรพนิมิต   เป็นจริงโดยส่วนเดียวแท้.  

แม้เพราะความเกี่ยวข้องของมูลเหตุ  ๔  อย่างเหล่านี้ต่างกัน ฝันจึงต่างกันไป
ฝันแม้ทั้ง  ๔  นั้นพระเสกขะและปุถุชน  ย่อมฝัน   เพราะยังละวิปัลลาสไม่ได้  
พระอเสกขะไม่ฝัน เพราะละวิปัลลาสได้แล้ว.

          ก็เมื่อฝันนั้น  หลับฝัน   ตื่นฝัน  หรือว่าไม่หลับไม่ตื่นฝัน.  ในข้อนี้มี
อธิบายไว้อย่างไร  ผิว่าหลับฝันก็ผิดอภิธรรม  ด้วยว่าสัตว์ย่อมหลับด้วยภวังคจิต
ภวังคจิตนั้นหามีรูปนิมิตเป็นต้นเป็นอารมณ์   หรือสัมปยุตด้วยราคะเป็นต้นไม่
จิตเช่นนี้ย่อมเกิดแก่ผู้ฝัน   หากตื่นฝันก็ผิดวินัย     เพราะว่าฝันที่ตื่นฝันด้วยจิต
เป็นอัพโพหาริก (เห็นเหมือนไม่เห็น) จะไม่เป็นอาบัติไม่ได้  เพราะล่วงละเมิด
ด้วยจิตเป็นอัพโพหาริก  เพราะแม้ผู้ฝันทำล่วงละเมิดก็ไม่เป็นอาบัติโดยส่วนเดียว
เท่านั้น    เมื่อไม่หลับ   ไม่ตื่นฝัน  ชื่อว่าไม่ฝัน  ก็เมื่อเป็นอย่างนี้  จึงไม่มีฝัน
และจะไม่มีก็ไม่ใช่.   เพราะเหตุไร   เพราะผู้ฝันเข้าสู่ความหลับดุจลิง.  สมดังที่
พระนาคเสนกล่าวไว้ว่า มหาบพิตรผู้ที่หลับดุจลิงแลย่อมฝัน. บทว่า กปิมิทฺธป
เรโต   ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยการหลับของลิง. เหมือนอย่างว่า การหลับของลิง
เป็นไปเร็วฉันใด  การหลับที่ชื่อว่า เป็นไปเร็ว เพราะแทรกแซงด้วยจิตมีกุศลจิต
เป็นต้นบ่อย ๆ  ก็ฉันนั้น   ในความเป็นไปของการหลับใด  จิตย่อมขึ้นจากภวังค์
บ่อย ๆ  ผู้ประกอบแล้วด้วยการหลับนั้น   ย่อมฝัน.

          ด้วยเหตุนั้น  ฝันนี้   จึงเป็นกุศลบ้าง    อกุศลบ้าง     อัพยากฤตบ้าง.
ในฝันนั้นพึงทราบว่า    เป็นกุศลแก่ผู้กระทำการไหว้เจดีย์   ฟังธรรม   และ
แสดงธรรมเป็นต้น   เป็นอกุศลแก่ผู้ทำปาณาติบาตเป็นต้น  พ้นจากสองอย่างนั้น
เป็น อัพยากฤตในขณะอาวัชชนจิตนึก      และขณะตทาลัมพนจิตยึดฝันนั้นเป็น
อารมณ์.   ฝันนี้นั้นเพราะมีวัตถุเป็นทุรพล  จึงไม่สามารถจะชักปฏิสนธิของเจตนา
มาได้  ก็เมื่อเป็นไปแล้ว  ฝันอันกุศลและอกุศลอื่นอุปถัมภ์ไว้ย่อมให้วิบาก  ให้
วิบากก็จริง  ถึงอย่างนั้น   เจตนาในฝันก็เป็นอัพโพหาริก  คือกล่าวอ้างไม่ได้เลย
เพราะเกิดในที่อันมิใช่วิสัย.      

          ก็สุบินนี้นั้น     แม้ว่า   โดยเวลาฝันในเวลากลางวัน  ย่อมไม่จริง  ใน
ปฐมยาม   มัชฌิมยาม   และปัจฉิมยาม    ก็เหมือนกัน.   แต่ตอนใกล้รุ่ง   เมื่อ
อาหารที่กิน   ดื่ม   และเคี้ยวย่อยดีแล้ว   โอชะอยู่ตามที่ในร่างกาย   พออรุณขึ้น
ความฝันย่อมจริง    เมื่อฝันอันมีอิฏฐารมณ์เป็นนิมิต   ย่อมได้อิฏฐารมณ์   เมื่อ
ฝันมีอนิฏฐารมณ์เป็นนิมิต    ย่อมได้อนิฏฐารมณ์.  ก็มหาสุบิน  ๕  เหล่านี้
โลกิยมหาชนไม่ฝัน มหาราชาทั้งหลายไม่ฝัน  พระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลายไม่ฝัน
อัครสาวกทั้งหลายไม่ฝัน   พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ฝัน   พระสัมมาสัม-
พุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่ฝัน  พระสัพพัญญูโพธิสัตว์พระองค์เดียวเท่านั้นย่อมฝัน.

บทความและรูปภาพจาก

wikipedia